‘อินโด-แปซิฟิก’เนื้อหอม ทัพลงทุนมะกันยึดหัวหาด ประกาศแชมป์ FDI 8.8 แสนล้านดอลลาร์

08 พ.ย. 2562 | 03:00 น.

ถึงแม้ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา จะไม่ได้มาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ และการประชุมอื่นๆ ของอาเซียนในระดับผู้นำ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 2-4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่นายโรเบิร์ต ซี โอไบรอัน ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติก็ยืนยันว่า สหรัฐฯไม่ได้ละเลยต่อภูมิภาคอาเซียน แต่ในทางกลับกัน การมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในอาเซียนยังคงมีความแข็งแกร่ง และพัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของสหรัฐฯ ในอาเซียนมีมูลค่าสูงกว่า 2.71 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2561 และนับวันมีแต่จะเพิ่มมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ

‘อินโด-แปซิฟิก’เนื้อหอม ทัพลงทุนมะกันยึดหัวหาด ประกาศแชมป์ FDI 8.8 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ ในการประชุมคู่ขนานของภาคเอกชนที่จัดขึ้นโดยหอการค้าอเมริกัน (แอมแชม) ร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมๆกับการประชุมสุดยอดอาเซียนภายใต้ชื่อการประชุม อินโด-แปซิฟิก บิสิเนส ฟอรัม ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีตัวแทนธุรกิจและผู้นำรัฐบาลกว่า 1,000 คนจากทั่วภูมิภาค รวมทั้งผู้บริหารบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯเกือบ 200 คน ตลอดจนนักการทูตและผู้แทนหน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐฯ เช่น สำนักงานส่งเสริมการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐฯ (USTDA) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (ยูเอสเอ็กซิมแบงก์) เข้าร่วมงาน ถือเป็นคณะผู้แทนภาครัฐและธุรกิจเอกชนของสหรัฐฯที่เยือนต่างประเทศชุดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมานำคณะโดย นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานนี้ด้วย ตอกยํ้าถึงการที่สหรัฐฯให้นํ้าหนักความสำคัญแก่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่มี “อาเซียน” เป็นศูนย์กลาง โดยหลังจากจบงานในประเทศไทยแล้วคณะของสหรัฐฯจะเดินทางต่อไปยังอินโดนีเซียและเวียดนาม

 

“เรานำตัวแทนเหล่านี้มาที่ประเทศไทย เพราะทั้งหมดยึดมั่นในการสนับสนุนการพัฒนาเพื่อการเจริญก้าวหน้าระยะยาวของประเทศในภูมิภาคนี้” นายโอไบรอัน ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีทรัมป์กล่าว สอดคล้องกับถ้อยแถลงในปาฐกถาพิเศษของนายวิลเบอร์ รอสส์ รมว.พาณิชย์ที่ระบุในตอนหนึ่งบนเวทีว่า การประชุมอินโด-แปซิฟิก บิสิเนส ฟอรัม ไม่เพียงเป็นการนำผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจสหรัฐฯมายังภูมิภาคนี้เพื่อสำรวจโอกาสการเติบโตที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น แต่ยังช่วยให้ประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสในการเข้าถึงการลงทุนจากภาคเอกชนมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯในอนาคตด้วย ซึ่งในขณะนี้สหรัฐฯเน้นความร่วมมือใน 3 ด้านสำคัญคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมพลังงาน

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2560-2561) สหรัฐฯเป็นแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ชายฝั่งด้านตะวันตกของสหรัฐฯมาจดชายฝั่งด้านตะวันตกของอินเดีย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อาเซียน มูลค่าการลงทุนสะสมของสหรัฐฯในภูมิภาคนี้สูงถึง 8.8 แสนล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561) และเม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ของสหรัฐฯคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.7 แสนล้านดอลลาร์ก็มุ่งมายังอาเซียน

นายรอสส์กล่าวว่า นับตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา (ก.ค.61) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ช่วยเหลือบริษัทของสหรัฐฯกว่า 9,000 รายในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าของสหรัฐฯมายังภูมิภาคนี้มูลค่ากว่า 7,650 ล้านดอลลาร์ โดยในจำนวนนี้เป็นการชนะประมูลโครงการของภาครัฐโดยบริษัทเอกชนของสหรัฐฯมูลค่า 3,100 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯยังช่วยบริษัทในอินโด-แปซิฟิกกว่า 2,500 รายหาโอกาสการลงทุนในสหรัฐฯด้วย ทำให้เกิดการลงทุนของบริษัทจากภูมิภาคนี้ในสหรัฐฯมูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าการค้า 2 ฝ่าย (ระหว่างสหรัฐฯและประเทศในอินโด-แปซิฟิก) ขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปีที่ผ่านมา

‘อินโด-แปซิฟิก’เนื้อหอม ทัพลงทุนมะกันยึดหัวหาด ประกาศแชมป์ FDI 8.8 แสนล้านดอลลาร์

 

ข้อมูลที่สำนักงานโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่ในงานอินโด-แปซิฟิก บิสิเนส ฟอรัมครั้งนี้ ยกตัวอย่างโครงการลงทุนใหม่ๆ ของสหรัฐฯในภูมิภาคอาเซียนได้แก่ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมแบบใช้กังหัน

ก๊าซกำลังการผลิต 2.2 กิกะวัตต์ในประเทศเวียดนาม เป็นการลงทุนของบริษัทเออีเอส คอร์ปอเรชั่นฯ ของสหรัฐฯมูลค่าการลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์ บริษัทวอร์เบิร์ก พินคัสฯ ประกาศลงทุน 250 ล้านดอลลาร์ในฟิลิปปินส์เพื่อขยายการสื่อสารบรอดแบนด์ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการประกาศลงนามจัดตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกขึ้นในประเทศไทยโดยบริษัท การ์เดียน อินดัสทรีส์ คอร์ป. ผู้ผลิตกระจกอาคารและกระจกรถยนต์คุณภาพสูงที่มีโรงงานผลิต 2 แห่งในประเทศไทยและมีการลงทุนในไทยจนถึงขณะนี้กว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3520 ระหว่างวันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน 2562