การเมืองซัดกันนัว! ทำอินเดียตกขบวน ‘อาร์เซ็ป’

05 พ.ย. 2562 | 11:10 น.

 

รัฐบาลอินเดียโดยการนำของนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรี โดนฝ่ายค้านโจมตีอย่างหนักในกรณีการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป ที่เพิ่งมีการประชุมระดับผู้นำรัฐบาลโดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ผลของความไม่ลงรอยภายในประเทศและแรงกดดันจากพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามทำให้รัฐบาลของนายโมดีตัดสินใจชะลอการลงเรือลำเดียวกับประเทศอื่นๆอีก 15 ประเทศในภาคีอาร์เซ็ปออกไปก่อน แม้จะถูกมองว่าเป็นประเทศเดียวที่มีปัญหาก็ตาม

ราหุล คานธี

นายราหุล คานธี ผู้นำพรรคคองเกรสซึ่งเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีและเป็นพรรคฝ่ายค้านในปัจจุบัน ออกโรงโจมตีข้อตกลงอาร์เซ็ปว่า ถ้าอินเดียเข้าร่วมเป็นสมาชิกก็จะทำให้ตลาดของอินเดียที่มีจำนวนผู้บริโภคนับพันล้านคน กลายเป็นตลาดรองรับสินค้าราคาถูกจากจีน อาร์เซ็ปจะทำให้สินค้าต่างชาติล้นทะลักเข้ามาในตลาดอินเดีย และทำให้คนอินเดียต้องตกงานจำนวนนับล้านๆคน และฉุดให้เศรษฐกิจของอินเดียต้องชะลอการเติบโต

 

“ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศของอินเดียที่มีชื่อว่า ยุทธศาสตร์ Make in India จะต้องเปลี่ยนชื่อกลายเป็น Buy from China หรือซื้อจากจีนแทนเถอะ” นายราหุลโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาวานนี้ (4 พ.ย.) ซึ่งเป็นวันที่นายโมดีมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาร์เซ็ปในประเทศไทย

 

“ในแต่ละปี เรานำเข้าสินค้าจากจีนเป็นมูลค่าเฉลี่ย 6,000 รูปีต่อชาวอินเดียทุกๆ 1 คน! เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 100% นับตั้งแต่ปี 2557”

การเมืองซัดกันนัว! ทำอินเดียตกขบวน ‘อาร์เซ็ป’

ข้อคิดเห็นของนายราหุลมีขึ้น 2 วันให้หลัง หลังจากที่นางโซเนีย คานธี ประธานพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นมารดาของเขา ออกมาโจมตีนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลและกล่าวหาว่าการลงนามในข้อตกลงอาร์เซ็ปจะเท่ากับเป็นการปล่อยหมัดอัดตรงเข้าใส่เศรษฐกิจของอินเดีย ก่อให้เกิดความทุกข์ยากตามมาสำหรับพี่น้องเกษตรกร เจ้าของร้านโชว์ห่วย และผู้ประกอบการธุรกิจรายเล็กรายน้อยทั่วประเทศ

 

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่แกนนำพรรคคองเกรสซึ่งเป็นฝ่ายค้านออกมาจัดหนักรัฐบาลหมัดสองหมัดในเรื่องอาร์เซ็ป ทางโฆษกพรรคบีเจพี หรือพรรคภารติยะ ชนะตะ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของนายโมดี ได้ออกมาทวิตข้อความปกป้องรัฐบาลในทันที โดยระบุว่า การออกทริปเดินทางแสวงบุญด้วยการนั่งสมาธิของนายราหุลคงจะทำให้เขาเพิ่งตื่นขึ้นมาแล้วเจอกับเรื่องอาร์เซ็ป ทางพรรคบีเจพีจึงอยากจะให้ข้อเท็จจริง 3 ประการเพื่อช่วยอาการขี้หลงขี้ลืมแบบเลือกที่จะลืมเพียงบางเรื่องแก่เขา ดังนี้

  1. กลุ่มพันธมิตรการเมืองที่มีชื่อว่า สหพันธมิตรก้าวหน้า หรือ UPA ที่มีพรรคคองเกรสเป็นสมาชิกนั่นแหละ ที่เป็นผู้นำพาอินเดียเข้าสู่การเจรจาอาร์เซ็ปในปี 2012 (พ.ศ. 2555)
  2. อินเดียขาดดุลการค้าให้กับจีนเพิ่มขึ้น 23 เท่าจาก 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 เป็น 44.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2557 (ซึ่งเป็นยุคที่พรรคคองเกรสเป็นฝ่ายตั้งรัฐบาล)
  3. ตอนนี้นายกรัฐมนตรีโมดีจึงต้องมาปัดกวาดขยะที่พวกคุณทำไว้  


การเมืองซัดกันนัว! ทำอินเดียตกขบวน ‘อาร์เซ็ป’

อนึ่ง  การประชุมผู้นำอาร์เซ็ปที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 พ.ย.นั้น ผู้นำได้ออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า สมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศ(ยกเว้นอินเดีย) สามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลงอาร์เซ็ปทั้ง 20 บท และการเจรจาเปิดตลาดในส่วนที่สำคัญทุกประเด็นได้แล้ว และมอบให้คณะเจรจาไปเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อลงนามความตกลงอาร์เซ็ปในปี 2563 โดยในส่วนของอินเดียยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อ สมาชิกอาร์เซ็ปจะทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป

 

ทั้งนี้ ความตกลงอาร์เซ็ปประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ที่มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือเกือบครึ่งของประชากรโลก

 

ประเด็นที่เป็นข้อน่ากังวลมากที่สุดสำหรับอินเดีย คือเรื่องของการเปิดตลาดสินค้า ซึ่งจะนําไปสู่การไหลทะลักของสินค้าจากจีนที่อินเดียไม่สามารถควบคุมได้ และจะทําให้ตัวเลขการขาดดุลการค้าของอินเดียเลวร้ายมากยิ่งขึ้น โดยสินค้าที่จีนจะรุกเข้าสู่อินเดีย ได้แก่ เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์  สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน นอกจากนี้ อินเดียยังกังวลเกี่ยวกับการต้องเปิดตลาดให้นมและผลิตภัณฑ์จากนมจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ด้วย