สถาบันวิทย์ฯจีนผนึกSCGลุยเทคโนโลยีอนาคตโปรเจ็กต์แรก100 ล้านหยวน

05 พ.ย. 2562 | 10:44 น.

 

“สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน”จับมือ “เอสซีจี” พัฒนา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 5 อุตสาหกรรม คือ เมืองอัจฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง ธุรกิจพลังงานใหม่ สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ “SCG-CAS ICCB Innovation Hub” ครั้งแรกในไทยนำเทคโนโลยีประยุกต์ใช้ ร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม พัฒนาบุคลากร และร่วมมือด้านการลงทุน มุ่งสานต่อกลยุทธ์นวัตกรรมหวังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ผลักดันนวัตกรรมภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย-จีน  ตอบโจทย์ตลาดและเทรนด์ธุรกิจในอนาคต มูลค่าโครงการเริ่มต้นกว่า 100 ล้านหยวน

นายรุ่งโรจน์  รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เผยว่า เอสซีจีเล็งเห็นถึงการสร้างความร่วมมือกับสถาบันและองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ  เพื่อเสริมศักยภาพและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง  ช่วยให้เอสซีจีมีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วภูมิภาคอาเซียนได้อย่างรวดเร็วและตรงจุดยิ่งขึ้น เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้ทุกรูปแบบการใช้ชีวิต เม็ดพลาสติกที่มีความแข็งแรงแต่ใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง และโซลูชันที่ช่วยแก้ปัญหาการก่อสร้างรูปแบบต่าง ๆ อย่างครบวงจร เป็นต้น 

สถาบันวิทย์ฯจีนผนึกSCGลุยเทคโนโลยีอนาคตโปรเจ็กต์แรก100 ล้านหยวน

อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากปี 2561 ที่เอสซีจีมียอดขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) มากถึง 184,965 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39 ของยอดขายรวม โดยทุ่มงบวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกว่า 4,674 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1 ของยอดขายรวม

เอสซีจีจึงมีความยินดีที่สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences-CAS) ซึ่งเป็นสถาบันวิทยาศาสตร์ระดับสูง  ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเป็นแหล่งกำเนิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญของจีน ได้เริ่มต้นความร่วมมือกับเอสซีจี ในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS Innovation Cooperation Center (Bangkok)-CAS ICCB) ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์เทรนด์อนาคต ผ่านการดูงานในสถาบันวิจัยและบริษัทด้านเทคโนโลยี การสรรหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการในด้านต่าง ๆ และการนำเทคโนโลยีมาทดลองใช้เพื่อต่อยอดในอนาคต (Proof Of Concept-POC) เช่น Sensor / IoT อาคารและโรงงานอัจฉริยะ และการจัดการมลพิษ เป็นต้น

สถาบันวิทย์ฯจีนผนึกSCGลุยเทคโนโลยีอนาคตโปรเจ็กต์แรก100 ล้านหยวน

อีกทั้งเพื่อเป็นการต่อยอดความร่วมมือให้เอสซีจี  สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่แหล่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำของโลกอย่างประเทศจีน  ซึ่งจะสามารถช่วยยกระดับการสร้างสรรนวัตกรรมของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งไทยและจีน  ตลอดจนคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น จึงมีการลงนามความร่วมมืออีกครั้งในวันนี้ ผ่านสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ให้เกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน

ด้าน ดร. เจียง เปียว ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กล่าวว่า CAS ICCB เป็นหนึ่งในสำนักงานต่างประเทศ 9 สาขาของ CAS ที่มีบทบาทสำคัญในการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ เพื่อถ่ายทอดผลงานทางวิทยาศาสตร์ของ CAS ซึ่งมีสถาบันวิจัยมากกว่า 100 แห่งในจีน นักวิจัยและทีมงานกว่า 70,000 คน เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ระดับเมธีวิจัยอาวุโสมากกว่า 800 คน และมหาวิทยาลัยในสังกัด 3 แห่ง 

วันนี้จึงมีความยินดีที่ได้ร่วมสานต่อการสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงเอสซีจี  ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมของไทยและภูมิภาคอาเซียน  เข้าสู่แหล่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนำของโลก ทั้งจาก CAS และเครือข่ายอื่น ๆ ในประเทศจีน โดยมุ่งเน้นใน 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต คือ  1.) เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เช่น อาคารอัจฉริยะ (Smart building) การบริหารพลังงาน (Energy management) 2.) ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ (AI / Machine learning and Robotics) 3.) เคมีภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Chemicals) 

สถาบันวิทย์ฯจีนผนึกSCGลุยเทคโนโลยีอนาคตโปรเจ็กต์แรก100 ล้านหยวน

4.) ธุรกิจพลังงานใหม่ (New energy business) เช่น พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) แบตเตอรี่ หรือระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และ 5.) สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Environment and sustainability) เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจสูง สามารถตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้หลากหลายทั่วโลก และตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจของเอสซีจีได้ในทุกกลุ่มธุรกิจ

CAS ICCB เชื่อมั่นว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของทั้งไทยและจีน จากการที่ CASจะได้มีโอกาสในการทด
ลองตลาดนวัตกรรมในประเทศไทย  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเทศชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ตามแนวทาง Belt and Road Initiative (BRI) หรือโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน ภายใต้มูลค่าโครงการในระยะเริ่มต้น ที่ประกอบด้วยต้นทุนนักวิจัย เทคโนโลยี สถานที่และเครื่องมือในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงผลตอบแทนจากการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมกว่า 100 ล้านหยวน (ประมาณ 500 ล้านบาท)

สถาบันวิทย์ฯจีนผนึกSCGลุยเทคโนโลยีอนาคตโปรเจ็กต์แรก100 ล้านหยวน

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างเอสซีจี กับสำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือ (กรุงเทพ) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ประกอบด้วย
1.) การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือ “SCG-CAS ICCB Innovation Hub” ณ อาคาร INC2 Tower D สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยพัฒนา Open Innovation Center ของเอสซีจีบางส่วนซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งในการสร้างความร่วมมือกับภายนอก ให้เป็นพื้นที่สำหรับการจัดแสดงผลงานนวัตกรรม การจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ รวมถึงพื้นที่ห้องทดลองเพื่อทำวิจัย พัฒนาต่อยอด และพื้นที่สำนักงาน ทั้งสำหรับการพัฒนานวัตกรรมร่วมกันระหว่างเอสซีจีกับ CAS และสำหรับนักวิจัยจาก CAS โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเปิดกว้าง  สำหรับการบ่มเพาะธุรกิจและการทดลองเชิงพาณิชย์ (Startup incubation and acceleration) เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพจากจีนที่มีศักยภาพและสนใจมาทำธุรกิจในอาเซียนร่วมกับเอสซีจี  ทั้งในรูปแบบของการให้คำปรึกษา การทำโครงการร่วมกัน หรือการทดลองใช้นวัตกรรมเพื่อขยายตลาด เป็นต้น

สถาบันวิทย์ฯจีนผนึกSCGลุยเทคโนโลยีอนาคตโปรเจ็กต์แรก100 ล้านหยวน

2.) การนำเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้วเบื้องต้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย  ผ่านการถ่ายทอดและอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยี (Technology Transfer and Licensing) ทั้งในรูปแบบการนำเทคโนโลยีที่ CAS หรือเครือข่ายสตาร์ทอัพของ CAS มีอยู่มาประยุกต์ใช้ในด้านอื่นหรือพัฒนาเป็นโซลูชันใหม่ของเอสซีจี  และการขออนุญาตใช้สิทธิในเทคโนโลยีหรือทรัพย์สินทางปัญญาของ CAS ที่มีความจำเพาะเพื่อนำมาพัฒนานวัตกรรมต่อไป เช่น การนำเทคโนโลยี sensor / IoT ของ CAS มาใช้สร้างเป็นโซลูชันต่าง ๆ ของเอสซีจี เช่น Smart building หรือ Plant reliability monitoring เป็นต้น

3.) การร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Joint Research Project) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละกลุ่มธุรกิจของเอสซีจี โดยนักวิจัยจากแต่ละกลุ่มธุรกิจของเอสซีจีกับนักวิจัยจาก CAS

สถาบันวิทย์ฯจีนผนึกSCGลุยเทคโนโลยีอนาคตโปรเจ็กต์แรก100 ล้านหยวน

4.) การเป็นแหล่งบ่มเพาะเพื่อพัฒนาบุคลากรของประเทศไทยและจีน  ผ่านการอบรมเฉพาะทาง การศึกษาขั้นสูง หรือการเรียนในหลักสูตรระยะสั้น ทั้งในรูปแบบของการแบ่งปันความรู้ในหัวข้อเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมด้านต่าง ๆ และการจัดเวิร์คช็อปในเรื่องที่น่าสนใจ โดยผู้เชี่ยวชาญจากเอสซีจี หรือ CAS หรือเครือข่ายความร่วมมืออื่น ๆ

5.) การสร้างความร่วมมือด้านการลงทุน เพื่อแสวงหาโอกาสในการลงทุนในกองทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์สูงในประเทศจีน หรือศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน

สถาบันวิทย์ฯจีนผนึกSCGลุยเทคโนโลยีอนาคตโปรเจ็กต์แรก100 ล้านหยวน

“เอสซีจีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือครั้งนี้ จะสามารถดึงศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของทั้งสององค์กรมาแลกเปลี่ยนและส่งเสริมซึ่งกันและกันให้เกิดอีโคซิสเท็มที่กว้างขวางขึ้น เพื่อทำให้การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ  สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายในปัจจุบันได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้น  นำมาซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจหลักของเอสซีจีที่มีอยู่ ตลอดจนการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่ช่วยสานสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีนได้ต่อไป” นายรุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

สถาบันวิทย์ฯจีนผนึกSCGลุยเทคโนโลยีอนาคตโปรเจ็กต์แรก100 ล้านหยวน