นักวิทยาศาสตร์หัวใจศิลป์ สร้าง ‘ปิโก’ สู่องค์กรสเปเชียลลิสต์ ด้านการตลาด

09 พ.ย. 2562 | 08:35 น.

นักวิทยาศาสตร์หัวลํ้า ที่เลือกเส้นทางอาชีพด้วยการเปิดบริษัท ออกแบบซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ของตัวเอง จากนั้นได้เข้าสู่บริษัทโฆษณาด้วยตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป และขึ้นนั่งในตำแหน่ง ซีอีโอ บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) บริษัทโฆษณา และอีเวนต์รายใหญ่ ที่มีรายได้ต่อเนื่องปีละกว่า 1,500 ล้านบาท 

“ศีลชัย เกียรติภาพันธ์” ผู้บริหารอารมณ์ดี จบปริญญาตรีคณะสาธารณสุขศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นไปต่อปริญญาโทด้านจุลชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และในปี 1991 เขาได้เข้าไปดูแลโครงการศาลาไทย โดยทำงานร่วมกับปิโกที่เมือง Seville ประเทศสเปน การทำงานของเขาเป็นที่สะดุดตาจนถูกผู้ใหญ่ในปิโกชวนเข้ามาร่วมงานตั้งแต่ครั้งนั้นจนถึงปัจจุบัน

นักวิทยาศาสตร์หัวใจศิลป์  สร้าง ‘ปิโก’ สู่องค์กรสเปเชียลลิสต์ ด้านการตลาด

ซีอีโอ ท่านนี้บอกเลยว่า การทำงานในฐานะผู้นำในสไตล์ของเขา ไม่ใช่การเข้าไปสั่งงาน แต่เป็นการให้คำปรึกษา ทำหน้าที่เป็นเหมือนโค้ชให้กับทีมงาน และยังเน้นการเปิดรับฟังความคิดเห็น เปิดโอกาสพวกเขาได้แสดงฝีมือ โชว์ศักยภาพอย่างเต็มที่ นั่นคือวิธีการบริหาร ที่ทำให้เขาได้ทีมงานที่แข็งแกร่ง จนมีผลงานเป็นที่ยอมรับและวัดผลได้

“ปีที่แล้ว เรามีรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท เพราะมันมีเหตุการณ์หลายอย่าง แต่เฉลี่ยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ปิโกมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 ล้านบาทกลางๆ แม้บางช่วงบริษัท จะเจอสถานการณ์บ้านเมือง หรือผลกระทบที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งมันไม่ง่าย”

การรับมือกับเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบต่อธุรกิจ ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่ผ่านมา ปิโกเจอหลายวิกฤติ ทั้งวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤตินํ้าท่วมใหญ่ วิกฤติการเมืองไทย เพราะฉะนั้น การเป็นผู้บริหารหรือผู้นำที่ดี ต้องเตรียมความพร้อม ต้องสามารถคาดคะเนเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ ว่าภายใน 6-8 เดือนจะมีอะไรเกิดขึ้น จะมีผลกระทบหรือไม่อย่างไร และต้องมีแผนหนึ่งแผนสอง หรือแผนสาม เพื่อช่วยให้ธุรกิจเดินหน้า โดยไม่ต้องปลดพนักงาน หรือลดเงินเดือน

ศีลชัย เกียรติภาพันธ์

“สิ่งที่ท้าทายสำหรับองค์กรตอนนี้ คือ ต้องพยายามตามความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างเรื่องของสถานการณ์โลก เพราะมันจะกระทบเราแน่นอน”

ซีอีโอ ปิโก บอกว่า สถานการณ์โลกมีปัญหา บริษัทอเมริกันที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบ ปิโกซึ่งมีลูกค้าอเมริกันอยู่เยอะ ก็ต้องกระจายความเสี่ยง ขยายฐานลูกค้าไปสู่ประเทศจีน ขณะเดียวกัน ก็ต้องรู้จักปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสาร ไม่ใช่ฮาร์ดคอร์ทำแต่มาร์เก็ตติ้ง แต่ต้องปรับไปสู่โหมด knowledge communication การบริหารจัดการภาวะวิกฤติ (Crisis management) เราวางแผนเยอะมาก และไม่ได้หาทางออกแค่ตัวเรา แต่ต้องหาทางออกให้ลูกค้าด้วย ต้องทำให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายได้

“คอนเซ็ปต์ ของเราคือ เอาไข่ใส่ไว้ในตะกร้าหลายใบ เพื่อกระจายความเสี่ยง อะไรที่เราคัตลอสได้ เราก็ทำ อะไรที่กรูมได้ เราก็ทำ…ที่สำคัญคนของเราเก่ง พอผ่านเหตุการณ์อะไร เราก็ปรับตัว”

“ความซื่อสัตย์ และการไม่เอาเปรียบใคร” เป็นอีกหนึ่งหัวใจการทำงานของซีอีโอท่านนี้...ผมถือเป็นมารยาททางธุรกิจ คือ ต้องไม่เอาเปรียบใคร โดยเฉพาะพนักงาน ต้องเชื่อใจกันได้ ทุกฝ่ายต้องแฮปปี้ จึงจะทำงานกันได้ยาวๆ

ในขณะเดียวกัน ซีอีโอท่านนี้ยังมีความเชื่อว่า เด็กรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้าทำงานแรกๆ จะยังไม่รู้ใจตัวเองว่าชอบ หรือถนัดงานอะไร เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ชอบ ก็ไม่ควรทู่ซี้อยู่ ดังนั้น เขาจึงยินดี ที่จะได้เห็น turn over ของพนักงานที่สูงกว่า 10% ทุกปี เพราะถ้าไม่ใช่ ก็ควรรีบเปลี่ยนงานซะ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ที่ผ่านพ้นช่วงนั้นมาแล้ว ก็จะอยู่กับปิโกยาว เพราะปิโก เป็นองค์กรที่เปิดกว้าง และให้โอกาส พร้อมบ่มเพาะ (incubator) บุคลากรให้มีความเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ และยังตอบสนองบุคลากรเหล่านั้นด้วยสวัสดิการที่ดี

นักวิทยาศาสตร์หัวใจศิลป์  สร้าง ‘ปิโก’ สู่องค์กรสเปเชียลลิสต์ ด้านการตลาด

ส่วนของธุรกิจ “ศีลชัย” บอกว่า ตอนนี้ปิโกมีอายุ 38 ปี ส่วนของปิโก กรุ๊ป อายุ 50 ปี ซึ่งในแต่ละช่วงเวลา เขามองว่ามีความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และบริบทวันนี้ความท้าทายขององค์กรอยู่ที่ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดให้พนักงานแสดงศักยภาพของเขาได้เต็มที่ ยกตัวอย่างองค์กรอย่าง กูเกิล หรือเฟซบุ๊ก ที่ไม่ได้เลือกรับพนักงานจากปริญญา ว่าเขาจบมาทางด้านไหน แต่จะฟังว่า คนคน นั้น มีแรงบันดาลใจด้านไหน ที่ต้องการประสบความสำเร็จหรือเปล่า ซึ่งนั่นคือ รูปแบบขององค์กรยุคใหม่ ที่ไม่ได้เอาไดเร็กชันขององค์กรเป็นที่ตั้ง แต่ความมุ่งมั่นของพนักงาน เขามาขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จมากกว่า

นั่นคือเป้าหมายที่ปิโกต้องการ โดยจะเดินหน้าควบคู่ไปกับการสร้างธุรกิจใหม่ๆ จาก IP ที่แข็งแกร่งของปิโก โดยพวกเราจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ จากปิโก ในช่วงต้นปีหน้าแน่นอน นอกเหนือจากธุรกิจหลักที่ทำอยู่ คือ อีเวนต์มาร์เก็ตติ้ง และ Education Communication ที่พัฒนาและส่งเสริมการศึกษามาต่อเนื่อง ผ่านงาน EDUCA ซึ่งนั่นจะเป็นแนวทางในการสร้างปิโก สู่บริษัท specialized ทางด้านมาร์เก็ตติ้ง กับภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) เช่น ทรานสปอร์ต ออโตโมบิล หรือ การบิน

 

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,520 วันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

นักวิทยาศาสตร์หัวใจศิลป์  สร้าง ‘ปิโก’ สู่องค์กรสเปเชียลลิสต์ ด้านการตลาด