เอ็กซเรย์น้ำในเขื่อน แล้งนี้หนักแน่

05 พ.ย. 2562 | 06:35 น.

สถานการณ์น้ำในเขื่อนอาการน่าเป็นห่วง 6 เขื่อนใหญ่น้ำเหลือไม่ถึง 30%  ขณะที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา เหลือน้ำใช้การได้แค่ 29%

กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำ  ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 พบว่า สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปริมาตรน้ำ 50,460 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 66% ของความจุอ่าง โดยมีปริมาตรน้ำใช้การได้ 26,532 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51%  เมื่อเทียบกับปริมาตรน้ำในอ่างปี 2561 ที่ 61,256 ล้าน ลบ.ม. ปรากฏว่าปริมาตรน้ำในปีนี้น้อยกว่าปี 2561 จำนวน 10,796 ล้าน ลบ.ม.

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 47,278 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 67% แต่ปริมาตรน้ำใช้การได้ 23,735 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่ 57,626 ล้าน ลบ.ม. ปรากฏว่าในปี นี้น้ำน้อยกว่าปี 2561 จำนวน 10,349 ล้าน ลบ.ม.

รายงานกรมชลประทานระบุว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุออ่างขณะนี้มีจำนวน 6 อ่างฯ มีดังนี้  1.เขื่อนแม่กวงอุดมธารา 71 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น  27% ของความจุอ่าง 2.เขื่อนอุบลรัตน์ 583 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น  24%  ของความจุอ่าง 3.เขื่อนลําพระเพลิง  32 คิดเป็น 21% ของความจุอ่าง 4.เขื่อนลํานางรอง 25 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 21% ของความจุอ่าง 5.เขื่อนทับเสลา 37 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 23% ของความจุอ่าง 6.อ่างเก็บน้ำ กระเสียว 70  ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 23%ของความจุ

เอ็กซเรย์น้ำในเขื่อน แล้งนี้หนักแน่

ขณะที่สภาพน้ำใน 4 เขื่อนสำคัญลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์  มีปริมาตรน้ำรวมกันทั้งหมด 12,045 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 48% ของความจุอ่าง แต่ปริมาตรน้ำใช้การได้เพียง  5,349 ลบ.ม. หรือ 29% 

เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำ 5,941 ล้าน ลบ.ม. หรือ 44% ของความจุอ่าง น้ำใช้การได้ 2,141 ล้าน ลบ.ม. หรือ 22% 

เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 5,271 ล้าน ลบ.ม. หรือ 55% ของความจุอ่าง น้ำใช้การได้  2,421 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36%

รวมปริมาณน้ำใรเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีจำนวน  11,212 ล้าน ลบ.ม. หรือ 49% ปริมาตรน้ำใช้การได้ 4,562 ล้าน ลบ.ม. หรือ 28%

ส่วนเขื่อนแควน้อยฯ มีปริมาตรน้ำ 493 ล้าน ลบ.ม. หรือ 53% ของความจุอ่าง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 340 ล้าน ลบ.ม. หรือ 35% ของความจุอ่าง

ก่อนหน้านี้นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน รุบุว่า ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่ขณะนี้ เพียงพอที่จะสนับสนุนเฉพาะการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลไม้ยืนต้นเท่านั้น จึงต้องวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างรัดกุม และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ให้ปฏิบัติตามแผนฯอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอไม่ขาดแคลน