หม่อมเต่า” แจงสถานะกองทุนประกันสังคมมั่นคงอยู่

04 พ.ย. 2562 | 01:00 น.

"หม่อมเต่า” แจงสถานะกองทุนประกันสังคมมั่นคงอยู่ รับปัญหาสูงวัยมากขึ้น แรงงานเข้าระบบลดลง กระทบกองทุนฯระยะยาวจริง แต่การดำเนินแก้ขึ้นกับสถานการณ์ความเหมาะสมและภาวะเศรษฐกิจ

ตามที่ได้มีการเสนอข่าวว่ากองทุนประกันสังคมจะหมดลงภายใน 15 ปี หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวชี้แจงว่า จากรายงานคณิตศาสตร์ประกันภัยของสำนักงานประกันสังคมร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รายงานเมื่อปี 2015 สถานะของกองทุนประกันสังคมในปัจจุบันยังมีความมั่นคง แต่ด้วยปัจจัยในอนาคตที่ต้องพบกับปัญหาผู้สูงอายุมากขึ้น แรงงานเข้าระบบประกันสังคมลดลง ในขณะเดียวกันมีการพัฒนาสิทธิประโยชน์สูงขึ้น ปัจจัยเช่นนี้ส่งผลถึงสถานะของกองทุนประกันสังคมในระยะยาวจริง

แต่อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคม ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เฝ้าติดตามตัวเลขปัจจัยที่มีผลกระทบกับสถานะของกองทุน 

ทั้งนี้หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล  เน้นว่าการดำเนินการแก้ปัญหานั้น ต้องคำนึงถึงระยะเวลา ความเหมาะสมกับสถานการณ์ ภาวะเศรษฐกิจ และต้องหาวิธีการดำเนินการที่เหมาะสมให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้กองทุนมีความมั่นคง ยั่งยืนยาวนานตลอดไป

 

ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมเองก็ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ดังนั้นขอให้ผู้ประกันตนมีความเชื่อมั่นในการบริหารกองทุนและการสร้างผลตอบแทนสะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่กองทุนประกันสังคม ในการที่จะสามารถรองรับค่าใช้จ่ายในการดูแล และพัฒนาสิทธิประโยชน์กลับคืนสู่ผู้ประกันตนทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

อนึ่งสำนักงานประกันสังคม รายงานสถานะเงินลงทุนกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 อยู่ที่ 2,055,040 ล้านบาท แยกเป็นเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงจำนวน 1,633,592 ล้านบาท คิดเป็น 79% และเป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงจำนวน 421,448 ล้านบาท คิดเป็น 21% 

โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 กองทุนประกันสังคม มีผลตอบแทนที่ได้รับรู้แล้ว 65,823 ล้านบาท โตเพิ่ม 18.4% จากสิ้นปี 2561 ที่มีผลตอบแทนอยู่ที่ 55,600 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นผลตอบแทนจากเงินปันผลและกำไรจากการขายตราสารทุนและหน่วยลงทุน 32,575 ล้านบาท และอีก 33,248 ล้านบาท มาจากดอกเบี้ยและกำไรจากการขายตราสารหนี้และค่าธรรมเนียมการให้ยืมหลักทรัพย์ 

อย่างไรก็ดีผลตอบแทนที่รับรู้แล้ว 65,823 ล้านบาท เมื่อเทียบกับขนาดเงินลงทุนของประกันสังคมจากสิ้นปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 1,908,787 ล้านบาท   อัตราผลตอบแทนในช่วง 9 เดือนดังกล่าว คิดเป็น  3.45%