เปิดรายงานแบงก์ชาติดูแลเศรษฐกิจครึ่งปี'62

03 พ.ย. 2562 | 11:30 น.

 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รายงานผลการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงครึ่งปี 2562 (มกราคม - มิถุนายน) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมาโดยมีสาระสําคัญได้ดังนี้ 
ภาวะเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็น อัตราที่ชะลอลงจากช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ตามอุปสงค์ต่างประเทศเป็นสําคัญ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศ ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก โดยการส่งออกสินค้าหดตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสําคัญและปริมาณการค้าโลก ขณะที่การส่งออกบริการหดตัวจากจํานวนนักท่องเที่ยวจีนและรายจ่ายของนักท่องเที่ยว ที่ลดลง 


สําหรับการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ แม้จะขยายตัวชะลอลงบ้าง ในเกือบทุกหมวดการใช้จ่าย แต่ยังขยายตัวในอัตราที่สูงจากกําลังซื้อของครัวเรือนที่อยู่ในเกณฑ์ดี และได้รับ ปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2561 


การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว ชะลอลงตามแนวโน้มการส่งออกและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับลดลง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐโดยรวม ขยายตัวและมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สําหรับภาวการณ์เงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายเอื้อต่อ การขยายตัวของเศรษฐกิจ


ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง จากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลงตามราคาน้ํามันดิบในตลาดโลก สําหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ปรับลดลงตามราคาอาหารสําเร็จรูปและค่าเช่าบ้านเป็นสําคัญ ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำ


ด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องและสามารถ รองรับความผันผวนของตลาดการเงินโลกได้ สะท้อนจากเครื่องชี้ต่าง ๆ อาทิ ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ที่เกินดุลต่อเนื่องตามดุลการค้าและบริการ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่อยู่ ในระดับต่ำ และสัดส่วนเงินสํารองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่อยู่ในระดับสูงตามเกณฑ์ มาตรฐานสากล 
เปิดรายงานแบงก์ชาติดูแลเศรษฐกิจครึ่งปี'62

สําหรับค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากสิ้นปีก่อนตามการอ่อนค่าของ เงินดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางสหรัฐ ส่งสัญญาณการดําเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น และนักลงทุนมีความกังวลเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีความตึงเครียดมากขึ้น 


นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพมากขึ้นยังมีส่วนสนับสนุนให้มีเงินทุนไหลเข้ามามากในระยะหลัง ประกอบกับมีการเพิ่มน้ําหนักหุ้นไทยในดัชนี Morgan Stanley Capital International (MSCI) และพันธบัตรรัฐบาลไทยในดัชนี JP Morgan Emerging Markets Bond Index รวมทั้งเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในอัตราที่มากกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ทําให้ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate : REER) มีทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน

เปิดรายงานแบงก์ชาติดูแลเศรษฐกิจครึ่งปี'62
แนวทางการดําเนินงานและประเมินผลนโยบายการเงิน
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดําเนินนโยบายการเงินภายใต้ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) ที่ให้ความสําคัญกับการรักษาเสถียรภาพ ราคาเป็นเป้าหมายหลักของการดําเนินนโยบายการเงินควบคู่ไปกับการดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจและ การรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ 


โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี ที่ร้อยละ 2.5 บวก ลบ 1.5 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสําหรับระยะปานกลางและเป็นเป้าหมายสําหรับปี 2562 เนื่องจากเป้าหมายดังกล่าวเหมาะสมสําหรับรักษาเสถียรภาพด้านราคาและช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์ เงินเฟ้อระยะปานกลางของสาธารณชน รวมทั้งเอื้อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับระดับศักยภาพ ของเศรษฐกิจไทย


สําหรับการดําเนินนโยบายการเงินในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 กนง. มีมติ ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 1.75 ต่อปีในการประชุมทั้ง 4  ครั้ง โดยการตัดสินนโยบาย กนง. ได้คํานึงถึง ผลบวกและผลลบของทางเลือกนโยบาย (Policy Trade-offs) ทั้งในด้าน (1.)ระดับอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสม และสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน (2) การสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืน และ (3) การดูแลความเปราะบางในระบบการเงินที่อาจสะสมภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง โดย กนง. เห็นว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังมีความจําเป็นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและ สอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นในสถานการณ์ที่ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยในประเทศสูงขึ้น 


ทั้งนี้ กนง. จะติดตามความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูงจากทั้งปัจจัยต่างประเทศและในประเทศ อย่างใกล้ชิดเพื่อประกอบการดําเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมในระยะต่อไป (Data Dependent) ในส่วนของการดําเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 กนง. ให้ความสําคัญกับการติดตามและดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเกินไปจนกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจโดยเฉพาะการเคลื่อนไหวจากเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้นเพื่อเก็งกําไร โดยคํานึงถึงความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกสหรัฐฯ ระบุเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (Curency Manipulator) 
 

ทั้งนี้ กนง. กังวลต่อการแข็งค่า ของเงินบาทที่ค่อนข้างเร็วในบางช่วง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและอาจกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป กนง. จึงสนับสนุนให้ ธปท. เตรียมมาตรการต่าง ๆ สําหรับดูแลการไหลเข้าของเงินทุนในช่วงสั้น ๆ เพื่อออกใช้ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม 

เปิดรายงานแบงก์ชาติดูแลเศรษฐกิจครึ่งปี'62
รวมถึงดําเนินการผ่อนคลาย กฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้ายด้านขาออกอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเงินทุนเคลื่อนย้าย ตลอดจน สนับสนุนให้ ธปท. สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อให้ภาคเอกชนบริหารจัดการความเสี่ยง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสมผ่านการสื่อสารอย่างต่อเนื่องให้ภาคเอกชนตระหนักถึงความสําคัญของการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน 

 

นอกจากนี้ กนง. ได้ติดตามพัฒนาการและประเมินความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อนํามาประกอบการพิจารณาตัดสินนโยบายการเงิน รวมทั้งมีการประชุมร่วมระหว่าง กนง. กับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และสนับสนุน การดําเนินงานของ ธปท. เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินอย่างต่อเนื่อง
 

 

แนวทางการดําเนินงานและประเมินผลนโยบายสถาบันการเงิน
การติดตามและประเมินความเสี่ยงที่มีต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. พบว่า ภาพรวมระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความเสียงบางจุดที่อาจ สร้างความเปราะบางต่อระบบการเงินในอนาคต โดยมีความเสี่ยงสําคัญ ได้แก่ 


หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงและการก่อหนี้มีสัญญาณเร่งขึ้นจากสินเชื่อหมวดรถยนต์ และธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่มิใช่ธนาคาร (Non-banks) มีมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อที่หย่อนลง ซึ่ง ธปท. ได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ กําหนดมาตรฐานกลางในการคํานวณภาระผ่อนชําระหนี้เทียบกับรายได้ (Debt Service Ratio : DSR) เพื่อติดตามมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อ 


การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์หลังเกณฑ์การกํากับดูแล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (หลักเกณฑ์ Loan to Value : LV) มีผลบังคับใช้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงอุปทาน คงค้างในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งจากอุปสงค์ต่างชาติที่ชะลอลงและอุปทานคงค้างในตลาดอาคารชุดที่อยู่ ในระดับสูง 


พฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) ยังมีต่อเนื่อง กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ มีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผ่านการออกตราสารหนี้ และการขยายการลงทุนออกจากธุรกิจหลักดั้งเดิม ทําให้การประเมินความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทําได้ยากขึ้น 


สินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นช่องทางสําคัญในการส่งผ่านความเสี่ยงด้านสภาพคล่องภายในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์

เปิดรายงานแบงก์ชาติดูแลเศรษฐกิจครึ่งปี'62
การออกนโยบายกํากับสถาบันการเงิน
การเข้ารับการประเมินตามโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) โดยผลการประเมิน FSAP ของภาคการเงินไทยมีพัฒนาการที่ดีและ กรอบการกํากับดูแลภาคการเงินอยู่ในระดับดีถึงดีมากสอดคล้องตามมาตรฐานสากล


การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกํากับดูแลสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้ การกํากับ โดยขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันเพื่อส่งเสริมให้ประชาชน ระดับฐานรากสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ด้วยราคาที่เหมาะสมและได้รับการปฏิบัติจากผู้ประกอบธุรกิจที่เป็น สถาบันการเงินและมิใช่สถาบันการเงินที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น


โครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (คลินิกแก้หนี้) ตั้งแต่เริ่มโครงการคลินิกแก้หนี้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 โครงการสามารถช่วยลูกหนี้ให้ปรับโครงสร้างหนี้ ได้สําเร็จรวม1,557 ราย มีลูกหนี้ที่ชําระหนี้เสร็จสิ้น 35ราย 


 แนวทางกํากับดูแลสินเชื่อผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ สําหรับสินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (Peer-to-Peer Lending : P2P Lending) โดยออกประกาศ ธปท. เรื่อง การกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจ Peer-to-Peer Lending Platform เพื่อส่งเสริมการนําเทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการทางการเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึง แหล่งเงินทุนของประชาชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs)


การกํากับดูแลด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) โดยขยายขอบเขตการบังคับใช้ประกาศ เรื่อง การบริหารจัดการด้านการให้บริการ แก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ให้ครอบคลุมสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIS) ผู้ประกอบธุรกิจ สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกํากับ (Nano Finance) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ 


การสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการกํากับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ ธปท. ร่วมพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการกํากับดูแลและการเตรียมการรองรับเมื่อพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มีผลบังคับใช้ เช่น การจัดทําร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการกํากับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน การเตรียมการเพื่อเข้ารับการประเมินตามโครงการ FSAP เป็นต้น


การปรับปรุงหลักเกณฑ์การทําความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer : KYC) สําหรับการเปิดบัญชีเงินฝากของสถาบันการเงินเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถ ปรับตัวได้ทันต่อสภาพแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

เปิดรายงานแบงก์ชาติดูแลเศรษฐกิจครึ่งปี'62
การแลกเปลี่ยนข้อมูลการกํากับดูแลสถาบันการเงินระหว่าง ธนาคารกลางในภูมิภาค ธปท. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อความร่วมมือในการกํากับดูแลสถาบันการเงิน กับหน่วยงานกํากับดูแลของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพิ่มจาก ณ สิ้นปี 2561 ที่ได้ร่วมลงนาม ไปแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย


การดําเนินนโยบายสถาบันการเงินในเวทีระหว่างประเทศ
การเข้าร่วมเจรจาเปิดเสรีภาคการเงินและการรวมตัวของภาคการธนาคาร ภายใต้กรอบอาเซียน โดยการเจรจาจัดตั้ง Qualified ASEAN Banks (QABS) ระหว่างไทยกับมาเลเซียได้บรรจุลง ในพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 8 (พิธีสารฯ) แล้ว โดยรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังได้ลงนามเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 ปัจจุบันทั้งสองประเทศอยู่ในขั้นตอนการให้สัตยาบัน ภายในประเทศเพื่อให้พิธีสารฯ มีผลผูกพัน


การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 พ.ศ.2559-2563 (แผนพัฒนาฯ) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2555 โดยได้ดําเนินการตามแผนพัฒนาฯ เช่น การสนับสนุนบริการทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการสนับสนุนการธนาคารที่ยั่งยืน เป็นต้น


ผลการดําเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์และ SFIs มีเสถียรภาพโดย เงินสํารอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัว ในอัตราชะลอลงตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ และการชําระคืนหนี้ของภาคธุรกิจ ขณะที่สินเชื่ออุปโภค บริโภคเติบโตลดลงเล็กน้อย ด้านคุณภาพสินเชื่อมีสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs) ในภาพรวมทรงตัว สําหรับสินเชื่อ SFS ขยายตัวได้ในพอร์ตสินเชื่อที่ให้แก่ภาครัฐ สินเชื่อที่ให้แก่ SMEs และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย


แนวทางการดําเนินงานและประเมินผลนโยบายระบบการชําระเงิน
ธปท. ได้ดําเนินงานด้านนโยบายระบบการชําระเงินเพื่อให้ระบบการชําระเงิน ของไทยมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งได้ดําเนินงานเพื่อยกระดับการกํากับดูแลระบบการชําระเงิน ของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโดยการดําเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 สรุปได้ดังนี้


โครงการระบบพร้อมเพย์มีความคืบหน้าสําคัญ คือ ณ วันที่ 30มิถุนายน 2562 มียอดการลงทะเบียนใช้บริการจํานวน 48.8 ล้านหมายเลข โดยมีปริมาณธุรกรรมโอนเงินตั้งแต่ เปิดให้บริการจนถึง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562  เท่ากับ 2.2 พันล้านรายการ คิดเป็นมูลค่า 11.3 ล้านล้านบาท


การดําเนินการตามกรอบการพัฒนา 5 ด้านของแผนกลยุทธ์ระบบ การชําระเงิน ฉบับที่ 4 (แผนกลยุทธ์ฯ) ธปท. ได้จัดทําและเผยแพร่แผนกลยุทธ์ฯ ซึ่งมีเป้าหมายให้ Digital Payment เป็นทางเลือกหลักในการชําระเงินภายใต้ระบบการชําระเงินที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ต้นทุนต่ํา ตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการตามกรอบการพัฒนา 5 ด้าน ดังนี้


1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชําระเงินที่เชื่อมโยงกัน (Interoperable Infrastructure) มีการดําเนินงานที่สําคัญ ได้แก่ (1) การพัฒนาและส่งเสริมการใช้มาตรฐาน Thai Standard QR Code สําหรับการชําระเงินและการโอนเงิน (2) การใช้มาตรฐาน ISO 20022 กับระบบ การชําระเงินที่สําคัญเพื่อช่วยเพิ่มช่องทางและความสะดวกในการรับชําระเงินของร้านค้าและลูกค้า และ (3) การออกแนวนโยบายการใช้มาตรฐาน Thai QR Code ในธุรกรรมการชําระเงินเพื่อลด Fragmentation ในระบบการชําระเงิน และสามารถต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินและบริการการชําระเงินสมัยใหม่ได้ในอนาคต


2. การส่งเสริมนวัตกรรมและบริการการชําระเงิน (Innovation) มีการดําเนินงานที่สําคัญ คือ การผลักดันการพัฒนาบริการการชําระเงิน/โอนเงินระหว่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยีและช่องทางใหม่ เช่น Interoperable QR Code การเชื่อมโยงระบบโอนเงินรายย่อยระหว่าง ประเทศโดย ธปท. ได้ผลักดันการพัฒนาบริการการชําระเงินระหว่างประเทศกับประเทศในกลุ่มอาเซียนผ่าน ความร่วมมือทั้งในระดับธนาคารกลางและธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง


3. การส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้บริการการชําระเงิน (Inclusion) ธปท. ได้ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้และส่งเสริมการใช้บริการการชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ประชาชนทั่วไปผ่านสื่อต่าง ๆ และการบรรยายให้ความรู้เรื่องการชําระเงินแก่หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึง การเผยแพร่ข้อมูลและความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ ธปท. ยังได้จัดงาน ASEAN Payment Connectivity ในการประชุมอาเซียนที่จังหวัดเชียงรายเพื่อสื่อสารนโยบายและพัฒนาการด้านการชําระเงิน ของไทยและต่างประเทศที่สําคัญ


4. การกํากับดูแลและการบริหารความเสี่ยง (Immunity) มีการดําเนินงานที่สําคัญ ดังนี้ การกํากับดูแลระบบการชําระเงินของไทย ตามมาตรฐานสากล : ธปท. ได้เข้ารับการประเมินภาคการเงินตามโครงการ FSAP โดยกองทุนการเงินระหว่าง ประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งคณะผู้ประเมินได้เข้าประเมินระบบบาทเนต รวมถึง ความรับผิดชอบของธนาคารกลางในการกํากับดูแลเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยในช่วงครึ่งปีแรกของ ปี 2562 


คณะผู้ประเมินได้จัดส่งรายงาน 2 ฉบับ ได้แก่ the Aide-Memoire of the 2019 Thailand FSAP ซึ่งเป็นรายงานที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน (Confidential) ที่สรุปความเห็นการประเมิน FSAP ในส่วนที่ เกี่ยวข้องกับระบบบาทเนต และรายงาน Financial Sector Assessment (FSA) ซึ่งเป็นรายงานสรุปผลการประเมินฉบับที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณชนมาให้ ธปท. พิจารณา โดย ธปท. ด้จัดทํา Authorities Response to the Assessment เพื่อให้ความเห็นต่อผลการประเมิน FSAP ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบบาทเนต และทบทวนการปรับปรุงรายงาน FSA ที่ผู้ประเมินได้ปรับแก้ตามความเห็นของ ธปท. และจะมีการเผยแพร่ ต่อสาธารณชนต่อไป


5.การจัดทําประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องภายใต้ พระราชบัญญัติระบบการชําระเงิน พ.ศ. 2562 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ธปท. อยู่ระหว่างดําเนินการ ออกประกาศที่เกี่ยวข้องภายใต้พระราชบัญญัติระบบการชําระเงิน ได้แก่ การกําหนดค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจ ระบบการชําระเงินและบริการการชําระเงินภายใต้การกํากับ หลักเกณฑ์ และวิธีการในการใช้อํานาจหน้าที่ของ ผู้ตรวจการตามกฎหมายว่าด้วยระบบการชําระเงิน หลักเกณฑ์การทําความรู้จักลูกค้าสําหรับการเปิดใช้บริการ เงินอิเล็กทรอนิกส์ และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการโอนเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์


การพัฒนาข้อมูลการชําระเงิน (Information) ธปท. อยู่ระหว่าง จัดทํากรอบแนวทางในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการข้อมูลการชําระเงิน ซึ่งในเบื้องต้นได้หารือกับภาครัฐและภาคเอกชนบางรายถึงความเป็นได้ในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ธปท. อยู่ระหว่างกําหนดรูปแบบและขอบเขตในการพัฒนาระบบงาน และเครื่องมือการวิเคราะห์ (Digital Dashboard) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และกําหนดตัวชี้วัดด้านการชําระเงิน รวมถึงสนับสนุนการจัดทํานโยบายระบบการชําระเงิน และติดตามแนวโน้มพฤติกรรมการชําระเงินอย่างต่อเนื่อง