วิศวกรเฮ รับอีอีซี เร่งปั้น 2.14 แสนคนรองรับ

03 พ.ย. 2562 | 08:10 น.

 

ในงานเสวนา “โครงการเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ วิศวกรไทยได้หรือเสียจัดโดยสภาวิศวกร เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือสกพอ. ได้ปาฐกถาพิเศษ ได้ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความ เร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟทางคู่การขยายมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อจากเดิมกรุงเทพฯ-พัทยา ไปถึงระยอง ขยายสนามบินอู่ตะเภาและศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) โครงการพัฒนาแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3

รวมถึงการพัฒนาเมืองใหม่ ที่จะประกอบไปด้วย ระบบคมนาคมขนส่ง และโครงข่ายการสัญจร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ภายในเมือง รวมถึงการควบคุมระบบต่างๆ ด้วย Sensor โครงข่ายระบบพลังงาน (Energy Grid System) การใช้พลังงานทางเลือก โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (CCHP Plant) สาธารณูปโภคและสาธาร ณูปการ (เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจและสถานีดับเพลิง สถานศึกษา ศูนย์การเรียนรู้ เป็นต้น) พื้นที่โล่งเปิดเป็นพื้นที่สีเขียว และสวนสาธารณะ ระบบบริหารจัดการนํ้าในเมืองอย่างครบวงจร

หนุนสร้างงานวิศวกร

ด้วยงบการลงทุนในอีอีซีรวมกว่า 1.7 ล้านล้านบาท มาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกว่า 6.6 แสนล้านบาท การพัฒนาเมืองใหม่กว่า 4 แสนล้านบาท การลงทุนภาคอุตสาหกรรมกว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งวิศวกรไทย จะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกภาคการลงทุน  ทั้งในด้านการศึกษาวิเคราะห์ คำนวณ ออกแบบ ตรวจสอบแก้ไขปัญหาและควบคุมการผลิต ในด้านการก่อสร้าง การออกแบบและผลิตการควบคุมเครื่องจักรกลโรงงานต่างๆ ทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรโยธา วิศวกรเครื่องกล วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมเคมี วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมโทรคมนาคม วิศวกรรมเกษตร วิศวกรรมอากาศยาน วิศวกรรมการขนถ่ายวัสดุ วิศวกรรมโลหการ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมเซรามิก วิศวกรรมเหมืองแร่ วิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมธรณี


 

 

เร่งปั้นบุคลากรรองรับ

ขณะที่การพัฒนาศักยภาพวิศวกรไทย เพื่อรองรับตลาดแรงงานนั้น สกพอ.ได้จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี รองรับการพัฒนาอีอีซี เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางดำเนินการในช่วงปี 2560-2564 ให้สามารถบรรลุเป้าหมาย ในการยกระดับการพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัยและเทคโนโลยีในพื้นที่อีอีซี อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากตำแหน่งวิศวกร ถือได้ว่าเป็นตำแหน่งที่มีความต้องการสูงที่สุด ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ มีแนวทางการดำเนินงาน โดยการอนุญาตให้สถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศสามารถดำเนินการได้ในเขตพื้นที่อีอีซี สำหรับการศึกษาระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกด้านวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ร่วมมือกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เปิดมหาวิทยาลัยสาขาในประเทศไทย

รวมถึงการร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น ความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างญี่ปุ่นและไทย ด้วยหลักการ FlexCampus ในการสร้างหลักสูตรต้นแบบตามความต้องการของอุตสาหกรรม และความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมนี ในการพัฒนาทักษะแรงงานสู่อุตสาหกรรม 4.0 และพัฒนานโยบายวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น

 

วิศวกรเฮ รับอีอีซี  เร่งปั้น 2.14 แสนคนรองรับ

 

ถึงปี 66 ต้องการ 2.14 แสนคน

อีกทั้ง มีมาตรการด้านภาษี เพื่อจูงใจผู้มีความสามารถสูงระดับโลกให้มาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ลด อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย ที่ทำงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีด ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือกิจการที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในอีอีซี

ดังนั้น จากการขับเคลื่อนอีอีซีที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้วิศวกรไทย เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาอีอีซีค่อนข้างมาก ซึ่งการประเมินความต้องการบุคลากรใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 3 โครง สร้างพื้นฐาน ในช่วงปี 2562-2566 ที่จบปริญญาตรีรวม 2.14 แสนคน และจบปริญญาโท-เอก ราว 8.6 พันคน

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,519 วันที่ 3-6 พฤศจิกายน 2562

วิศวกรเฮ รับอีอีซี  เร่งปั้น 2.14 แสนคนรองรับ