เฟียตเตรียมผนวกเปอโยต์-ซีตรอง ขึ้นแท่นบิ๊กผลิตรถยนต์อันดับ 4 ของโลก

31 ต.ค. 2562 | 11:35 น.

 

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ 2 รายใหญ่ค่ายยุโรป- พีเอสเอ กรุ๊ป ผู้ผลิตรถยนต์เปอโยต์และซีตรอง กับบริษัท เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ หรือ เอฟซีเอ ผู้ผลิตรถเฟียต อัลฟาโรมีโอ ไครสเลอร์ มาเซอราติ จีป ฯลฯ เผยแผนควบรวมกิจการวันนี้ (31 ต.ค.) เพื่อร่วมกันเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ท่ามกลางความท้าทายในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกำแพงการค้าในรูปภาษีศุลกากรที่สูงขึ้น การเข้าสู่ยุคศักราชของยานยนต์ไฟฟ้า และกฎเหล็กที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการปล่อยไอเสียและการสร้างมลพิษของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง

หลากแบรนด์รถยนต์ในเครือเฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิล (เอฟซีเอ)

ผู้ถือหุ้นเดิมของทั้ง 2ฝ่าย จะถือหุ้นฝ่ายละ 50% ในบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นภายหลังการควบรวมกิจการ โดยบริษัทใหม่ดังกล่าวจะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ทั้งในกรุงปารีส มิลาน และนิวยอร์ค การควบรวมกิจการครั้งนี้จะไม่มีการปิดโรงงานของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คาดว่าการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกันจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายประหยัดต้นทุนลงไปได้ถึง 3,700 ล้านยูโร

 

อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศแผนควบรวมกิจการดังกล่าว ราคาหุ้นของกลุ่มพีเอสเอในตลาดปารีสปรับลดลง 9.1% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ3 ปีกว่าๆ ขณะที่ราคาหุ้นของเอฟซีเอในตลาดหลักทรัพย์มิลานทะยานขึ้นถึง 10%  คณะผู้บริหารของทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะร่วมกันจัดทำรายละเอียดข้อตกลงการควบรวมกิจการให้เสร็จสิ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งเมื่อทุกอย่างสำเร็จลุล่วง บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการรวมกิจการจะกลายเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิล หรือ เอฟซีเอ นั้นเป็นบริษัทรถยนต์สัญชาติอิตาเลียน-อเมริกัน เกิดจากการควบรวมกันระหว่างเฟียตและไครสเลอร์ในปี 2557 ส่วนพีเอสเอ เป็นบริษัทฝรั่งเศส ผู้ผลิตรถยนต์เปอโยต์และซีตรอง ถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสองของยุโรป(ในแง่รายได้) รองจากบริษัท โฟล์คสวาเกน สัญชาติเยอรมัน      

คาร์ลอส ทาวาเรส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของพีเอสเอ

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าการควบรวมกันระหว่างทั้งสองฝ่ายจะทำให้กลุ่มตระกูลแอกเนลลีของอิตาลีและตระกูลเปอโยต์ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลในแวดวงธุรกิจของยุโรปรวมพลังกันขับเคลื่อนองค์กรฝ่าคลื่นลมแห่งการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ได้อย่างแข็งแกร่ง คณะกรรมการบริหารของบริษัทใหม่จะมีสมาชิก 11 คน โดยในจำนวนนี้ 6 คนจะเป็นตัวแทนจากพีเอสเอ ซึ่งรวมถึงนายคาร์ลอส ทาวาเรส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของพีเอสเอ ที่จะดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัทใหม่เป็นเวลา 5 ปี คณะกรรมการ 5 คนที่เหลือจะเป็นผู้แทนจากฝ่ายเอฟซีเอ

เฟียตเตรียมผนวกเปอโยต์-ซีตรอง ขึ้นแท่นบิ๊กผลิตรถยนต์อันดับ 4 ของโลก

ทั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเผชิญความท้าทายจากคลื่นแนวโน้มในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มุ่งไปสู่ทิศทางของรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งพีเอสเอและเอฟซีเอ ยังมีการลงทุนในด้านนี้ไม่มากนัก และทั้ง 2 บริษัทก็ยังไม่สามารถบุกทะลวงเข้าไปยึดหัวหาดในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีความสำคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่หากควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นจะสามารถบุกตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในยุโรปได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้น รวมทั้งเติมเต็มส่วนที่ขาดเนื่องจากปัจจุบัน เอฟซีเอยังขาดรถรุ่นใหม่ๆในประเภทเอสยูวีภายใต้แบรนด์เฟียต ขณะที่แบรนด์จีปก็เริ่มต่อไม่ติดกับคนรุ่นใหม่  

 

กฎระเบียบเกี่ยวกับการปล่อยไอเสียที่เข้มงวดมากขึ้นรวมทั้งต้นทุนที่สูงลิ่วในการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ยังทำให้บริษัทรถยนต์หลายรายทั่วโลกหันเข้าหากลยุทธ์ร่วมมือกันเพื่อผนึกพลังและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัท โฟล์คสวาเกนก็เพิ่งประกาศจับมือกับฟอร์ด มอเตอร์ พัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับ ขณะที่โตโยต้า มอเตอร์ ร่วมมือผนึกพลังกับซูบารุ และบีวายดี (จากจีน) เป็นต้น