กพร. รุกเร่งรีไซเคิลขยะหมุนเวียนเป็นทรัพยากรทดแทน

31 ต.ค. 2562 | 06:05 น.

กพร. เดินหน้าผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและรูปแบบธุรกิจใหม่ โดยการเปลี่ยนขยะหรือของเสียหมุนเวียนกลับมาเป็นวัตถุดิบทดแทน สร้างให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
                นายสุระ  เพชรพิรุณ  รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กพร. ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ทั้งวัตถุดิบจากแหล่งแร่ธรรมชาติ วัตถุดิบทดแทนที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสีย และวัตถุดิบขั้นสูงที่เป็นแร่ โลหะและสารประกอบโลหะชั้นคุณภาพสูง สำหรับรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตของประเทศ ตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมไทย 4.0 ได้ตั้งเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาของเสียเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทน ซึ่งผลการดำเนินการประสบความสำเร็จตามแผนมาโดยตลอด

กพร. รุกเร่งรีไซเคิลขยะหมุนเวียนเป็นทรัพยากรทดแทน

ทั้งนี้  ในปี 2562 กพร. ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลจัดการของเสียที่ประเทศไทยยังไม่มีกระบวนการจัดการและเทคโนโลยีรีไซเคิลที่ดีได้เป็นผลสำเร็จเป็นแห่งแรก ได้แก่ เทคโนโลยีรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Panel) และเทคโนโลยีรีไซเคิลถุงบรรจุภัณฑ์ที่มีอะลูมิเนียมฟอยล์เป็นองค์ประกอบ (Multilayer Packaging) ซึ่งนับว่าเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลที่ตอบโจทย์ในการจัดการของเสียที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต

แผงเซลล์แสงอาทิตย์เป็นอุปกรณ์ผลิตพลังงานทางเลือกที่มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และจะเริ่มหมดอายุการใช้งานกลายเป็นของเสียระลอกแรกในระยะ 5 ปีนี้ กพร. จึงได้เร่งพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้ประสบผลสำเร็จ โดยสามารถสกัดโลหะมีค่า คือ เงินบริสุทธิ์ 99.98% ออกมาใช้ใหม่ได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรที่ได้จากการรีไซเคิลขยะหรือของเสียกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้อย่างคุ้มค่า และเตรียมต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลส่วนประกอบอื่นที่สำคัญจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เช่น ซิลิกอน (Silicon) อย่างครบวงจรในระยะต่อไป

สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลถุงบรรจุภัณฑ์ที่มีอะลูมิเนียมฟอยล์เป็นองค์ประกอบ ซึ่งประกอบไปด้วยวัสดุบาง ๆ หลายประเภทซ้อนกัน เช่น แผ่นฟอยล์อะลูมิเนียม (Aluminum Foil) และพลาสติกชนิดต่าง ๆ ทำให้รีไซเคิลได้ยาก จึงนิยมกำจัดด้วยการฝังกลบ โดยความสำเร็จในครั้งนี้เป็นการแยกสกัดโลหะอะลูมิเนียมและแวกซ์ ออกมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม และจะได้มีการขยายผลแยกส่วนที่เป็นน้ำมันสำหรับผลิตเป็นเชื้อเพลิงในระยะต่อไป

กพร. รุกเร่งรีไซเคิลขยะหมุนเวียนเป็นทรัพยากรทดแทน
                นอกจากนี้ กพร. ยังได้มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลของเสียเพื่อนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ รองรับอุตสาหกรรม S-Curve ได้แก่ เทคโนโลยีรีไซเคิลแม่เหล็กกำลังสูงในฮาร์ดไดรฟ์และมอเตอร์ไฟฟ้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีโลหะหายากนีโอดีเมียม (Neodymium Magnet) เป็นองค์ประกอบ โดยโลหะนีโอดีเมียมนี้ จะเป็นวัตถุดิบตั้งต้นให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ได้หลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็นต้น รวมทั้งได้พัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของเสียฝุ่นสังกะสีที่ได้จากอุตสาหกรรมชุบเคลือบโลหะ ให้กลายเป็นสังกะสีซัลเฟต (Zinc Sulfate) ที่มีความบริสุทธิ์สูงซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ โดยนำไปใช้ในการผลิตอาหารเสริมสำหรับสัตว์ และเป็นสารปรับปรุงคุณภาพดิน อย่างไรก็ตาม หากสามารถพัฒนากระบวนการรีไซเคิลทำให้สังกะสีซัลเฟตมีความบริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น ก็จะต่อยอดเป็นอาหารเสริมสำหรับคนหรือใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สามารถเพิ่มมูลค่าได้อีกหลายสิบเท่าในอนาคต

ผลสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลดังกล่าว นับเป็นความสำเร็จตามเป้าหมายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยนวัตกรรม (Innovation) และรูปแบบธุรกิจใหม่ (New Business Model) โดยการเปลี่ยนขยะหรือของเสียที่ถูกมองว่าเป็นปัญหากลับมาใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบทดแทน หรือที่เรียกว่า “Waste to Resource” ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

กพร. รุกเร่งรีไซเคิลขยะหมุนเวียนเป็นทรัพยากรทดแทน

นายสุระ กล่าวต่อไปอีกว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นการดำเนินการภายใต้ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล ของ กพร. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รวมทั้งได้มีการอบรมเพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีรีไซเคิลให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจ ทั้งผู้ประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดของเสียโดยตรงอยู่แล้วที่ต้องการนำของเสียไปสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแทนที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสีย และผู้ประกอบการใหม่ที่ต้องการต่อยอดในเชิงพาณิชย์เพื่อขยายธุรกิจเดิมที่มีอยู่