บีเอ็มดับเบิลยู ปั้นบุคลากรยานยนต์มาตรฐานเยอรมัน

31 ต.ค. 2562 | 01:36 น.

บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป พัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ จัดโครงการการศึกษาระบบทวิภาคี “BMW Service Apprentice Program” ปูพื้นฐานวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้านักศึกษาไทย 

 บีเอ็มดับเบิลยู ปั้นบุคลากรยานยนต์มาตรฐานเยอรมัน

นายซีซาร์ บาดิลย่า ผู้อำนวยการฝ่ายบริการหลังการขาย บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ มุ่งพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์  ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ด้วยเป้าหมายการยกระดับระบบอาชีวศึกษาของไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้มีศักยภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล เสริมความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต

โครงการ BMW Service Apprentice Program ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการศึกษาระบบทวิภาคีเยอรมัน-ไทย(German-Thai Dual Excellence Education (GTDEE) program)  ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เริ่มต้นเมื่อปี 2555 

บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ร่วมกับหอการค้าเยอรมัน-ไทย และผู้จำหน่ายบีเอ็มดับเบิลยู มินิ และ บีเอ็มดับเบิลยูมอเตอร์ราดอย่างเป็นทางการ จัดอบรมความรู้และฝึกฝนทักษะในสายงานด้านช่างเทคนิคให้แก่นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ครอบคลุมการเรียนรู้ด้านทฤษฎี การอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมของบีเอ็มดับเบิลยู และร่วมปฏิบัติงานกับช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญของผู้จำหน่ายบีเอ็มดับเบิลยูอย่างเป็นทางการ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบอาชีวศึกษาของไทยและสร้างแรงงานฝีมือที่เปี่ยมด้วยทักษะและความสามารถระดับสูง ช่วยยกระดับศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยนตรกรรมระดับโลก

 บีเอ็มดับเบิลยู ปั้นบุคลากรยานยนต์มาตรฐานเยอรมัน

บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป มอบประกาศนียบัตรให้แก่นักศึกษาอาชีวะ รุ่นที่ 6 ที่ผ่านการฝึกอาชีพจากผู้จำหน่ายบีเอ็มดับเบิลยู มินิ และบีเอ็มดับเบิลยู มอเตอร์ราดอย่างเป็นทางการในประเทศไทย รวม 14 คน พร้อมมอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาในโครงการรุ่นที่ 7 และรุ่นที่ 8 รวม 51 คน โดยนักศึกษาทั้ง 3 รุ่นมาจาก 3 สถาบัน ได้แก่ โรงเรียนจิตรลดาวิชาชีพ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก และวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) 

 

นอกจากนี้ ยังได้มอบชุดเกียร์คลัทช์คู่ BMW Twin-clutch gearbox GD 7F30G เป็นอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน ให้กับทั้ง 3 สถาบัน สถาบันละ 2 ชุด เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการศึกษาในชั้นเรียนต่อไป

ดร.อเล็กซานเดอร์ เราโบลด์ ที่ปรึกษาด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจกรณีพิเศษ การคมนาคมและสิ่งแวดล้อมและพลังงานสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการนี้ ถือเป็นก้าวที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของชีวิตนักศึกษาที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานอาชีวศึกษาระดับโลกในระบบทวิภาคีตามหลักสูตรเยอรมันสาขาช่างแมคคาทรอนิกส์ในรถยนต์ (Automotive Mechatronics) ที่อยู่ในระดับเดียวกับช่างฝึกอาชีพในประเทศเยอรมนีถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อก้าวสู่ยุค Industry 4.0 ที่มีความต้องการแรงงานทักษะชั้นสูง เพื่อสร้างและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันต่อไป