ระงับ GSP ไม่สะเทือนบจ. จับตาเงินบาทแข็งค่า      

30 ต.ค. 2562 | 04:31 น.

สหรัฐฯประกาศระงับ GSP สินค้าไทยกดดันราคาหุ้นกลุ่มส่งออกลดลงแรง โบรกฯ มองกระทบบจ.ไม่มาก ชี้ค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นความเสี่ยงต่อประมาณการจีดีพี และกำไรบจ.ปีนี้ถึงปีหน้า

รายงานข่าวจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) จะระงับสิทธิภาษีศุลกากร (GSP) กับไทย 573 สินค้า มูลค่าสินค้าประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท เริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือในวันที่ 25 เมษายน 2563 ส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มที่มีการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 28 ตุลาคม 2562 ดัชนีกลุ่มเกษตรและอาหาร ปิดที่ 421.00 จุด ลดลง 1.21 จุด หรือ 0.29% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปิดที่ 1,052.10 จุด ลดลง 28.86 จุด หรือ 2.67%

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ประเด็นไทยถูกตัด GSP มีผลกระทบน้อยกว่าประเด็นเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งปัจจุบันแข็งค่าหลุดระดับ 30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ไปแล้ว ถือเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี และเป็นความเสี่ยงต่อประมาณการเศรษฐกิจไทย และกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปีนี้และปีหน้า ซึ่งในอนาคตนักวิเคราะห์อาจจะปรับคาดการณ์กำไรและตัวเลขเศรษฐกิจไทยลงได้อีก

 

ระงับ GSP ไม่สะเทือนบจ.  จับตาเงินบาทแข็งค่า      

 

ตอนต้นปี บล.ทิสโก้ฯ ประเมินว่า EPS ปี 2562 จะอยู่ทีี่ 115 บาทต่อหุ้น แต่ได้มีการปรับลดลงเหลือ 98 บาทต่อหุ้น และจากที่คาดว่าดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้อยู่ยืนระดับ 1700 จุด แต่ตอนนี้คาดว่าจะไม่ถึง 1700 จุด

ขณะที่ผลกระทบการตัด GSP ต่อภาวะตลาดโดยรวมนั้น คาดว่ามีผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากหุ้นในกลุ่มเกษตรมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 0.3%, กลุ่มอาหารมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 6.1% และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 0.7% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด ซึ่งจากการประเมินราคาหุ้นในกลุ่มเกษตรที่เปลี่ยนแปลงไปทุกๆ 1% จะมีผลต่อดัชนีหุ้นไทย ให้เปลี่ยนแปลง 0.05 จุด กลุ่มอาหาร 0.97 จุด และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ 0.12 จุดและหากพิจารณาเป็นรายตัวเฉพาะหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบข้างต้น หุ้นที่จะมีผลกระทบต่อดัชนีหุ้นไทบมากที่สุด คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) ที่ราคาเปลี่ยนแปลงทุกๆ 1% จะมีผลต่อดัชนีหุ้นไทยเปลี่ยนแปลงประมาณ 0.21 จุด, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TU) 0.06 จุด และ บริษัท เดลต้าอีเลคโทรนิคส์ (ประ เทศไทย) จำกัด (มหาชน) (DELTA) 0.05 จุด

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า กรณีที่ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงแรงในช่วงเช้าวันที่ 28 ตุลาคม 2562 มาจากนักลงทุนตอบรับและมีความกังวลกับข่าวสหรัฐฯตัด GSP ไทย แต่จากนั้นตลาดเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ หลังจากมีบทวิเคราะห์จากหลายบริษัทระบุว่าไม่มีผลมากนัก ทั้งนี้ยอมรับว่ามีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แน่นอน แต่มองว่าไม่ได้มากอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เพราะบางบจ. มีแหล่งการผลิตที่ไม่ใช่เฉพาะที่ไทยเท่านั้น แต่ยังมีแหล่งการผลิตในทั่วโลก

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า กรณีดังกล่าว มีผลกระทบเป็นลบเล็กน้อยต่อตลาดหุ้นไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ประเมินการตัดสิทธิ GSP จะกระทบต่อการส่งออกของไทยเพียง 0.01% ของการส่งออกรวมของไทยเฉลี่ยรายปี หรือทำให้ต้นทุนการส่งออกของไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ บจ.ในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว แต่ยังมีความเสี่ยง คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่า

ด้านฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็กฯ ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยว่ายังมีความผันผวนในช่วงขาลงต่อเนื่อง เนื่องจากขาดปัจจัยบวกใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุน และกังวลกับกรณีที่สหรัฐฯสั่งระงับ GSP สินค้าไทย โดยให้เหตุผลว่าไทยล้มเหลวในเรื่องการให้สิทธิแรงงานตามหลักสากล ส่งผลมีภาระภาษีเพิ่ม 1,500 - 1,800 ล้านบาท และทางกระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินสถานการณ์ดังกล่าวว่าจะส่งผลต่อการส่งออกประมาณ 0.01% ซึ่งถือว่าเป็นผลกระทบที่น้อยมาก

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,518 วันที่ 31 ตุลาคม-2 พฤศจิกายน 2562

ระงับ GSP ไม่สะเทือนบจ.  จับตาเงินบาทแข็งค่า