ซีอีโอใหม่ IRCo ดันทุกทาง ฝ่าวิกฤติ‘ยาง3ชาติ’

30 ต.ค. 2562 | 07:10 น.

สัมภาษณ์

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาราคายางพาราในตลาดโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลจากเศรษฐกิจของจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ใช้ยางพารารายใหญ่ชะลอตัว ล่าสุดสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังยืดเยื้อส่งผลกระทบเศรษฐกิจและการค้าโลกปีนี้ยิ่งหดตัวลง ทำให้การใช้ยางพาราลดลงตามไปด้วย

ในสถานการณ์ยางพาราที่ค่อนข้างวิกฤตินี้จะมีทางออกอย่างไรนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษนายพิเชฏฐ์ พร้อมมูล ประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCo หรือเออร์โก้) (ประกอบด้วยไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งมีผลผลิตยางรวมกันมากกว่า 60% ของผลผลิตโลก) ถึงวิสัยทัศน์การบริหารยางพาราในช่วงวิกฤติดังนี้

 

ดูแลสวนยาง 4 ล้านราย

นายพิเชฏฐ์ กล่าวว่า ได้รับเลือกจาก 3 ประเทศให้ดำรงตำแหน่งซีอีโอของเออร์โก้ และได้เริ่มต้นทำงานมาประมาณ 2 เดือน มีหน้าที่จะเป็นเลขาฯของ 2 หน่วย คือ บอร์ดของเออร์โก้ และบอร์ดไตรภาคีสภายางพารา (ไอทีอาร์ซี) โดย 2 คณะนี้อยู่ภายใต้รัฐมนตรีทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขั้นปฐมของมาเลเซีย เออร์โก้จะทำให้ที่ประสานงานทั้ง 3 ประเทศ รวมทั้งการศึกษาข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานการณ์การตลาด การผลิต การส่งออก เป็นต้น

ซีอีโอใหม่ IRCo   ดันทุกทาง  ฝ่าวิกฤติ‘ยาง3ชาติ’

“ในภาพรวมผมจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของทั้ง 3 ประเทศ มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย เป็นบริษัทจำกัด ในนามของรัฐบาล เพราะฉะนั้นข้อมูลที่ออกมาจะต้องเป็นข้อมูลที่เป็นความจริง โดยเออร์โก้ต้องดูแลเกษตรกรชาวสวนยางของทั้ง 3 ประเทศที่มีรวมกันกว่า 4 ล้านครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ประมาณ 10-15 ไร่ต่อราย หน้าที่หลักขององค์กรนี้ คือจะต้องมีบทบาทดูแลและผลักดันด้านราคายางให้ได้ผลมากกว่าเดิม”

 

 

ข้อจำกัดคุมนักเก็งกำไรไม่ได้

นายพิเชฏฐ์ กล่าวว่า ตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าส่วนใหญ่เป็นนักเก็งกำไรที่ซื้อขายสัญญา เหมือนตลาดหุ้นที่คิดว่า ถ้าหุ้นตัวนี้กำลังดีให้รีบซื้อ เพื่อจะได้ขายในราคาสูงขึ้นไปอีก หากกำลังจะแย่ให้รีบขายทิ้ง แต่ราคาในตลาดซื้อขายยางล่วงหน้านั้นถูกใช้อ้างอิงเพื่อซื้อขายยางแล้วส่งมอบจริงด้วย โดยที่นักเก็งกำไรไม่ได้สนใจว่าเกษตรกรจะขายยางพาราตํ่ากว่าต้นทุนหรือไม่ แต่การค้าเสรีถือว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของนักเก็งกำไร นี่คือข้อจำกัดของประเทศผู้ผลิตยางในการบริหารราคายางพารา

 

ซีอีโอใหม่ IRCo   ดันทุกทาง  ฝ่าวิกฤติ‘ยาง3ชาติ’

 

ส่วนฝั่งเกษตรกรมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของสินค้ายางพารา คือ ต้นยางพาราเป็นไม้ยืนต้น ปลูกแล้วกว่าจะได้ผลผลิตค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ปี ชาวสวนที่ปลูกแล้วไม่ว่าราคาดีหรือไม่ดีไม่มีทางเลือกอื่นก็คือ ต้องเข้าสวนไปกรีดยาง เพราะทันทีที่กรีดยางมาก็จะทำให้มีรายได้ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย นั่นเป็นภาพส่วนใหญ่ แล้วเป็นเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมเกษตรกรถึงยังผลิตยางอยู่ทำไมไม่โค่นต้นยางทิ้ง

 

 

ซีอีโอใหม่ IRCo   ดันทุกทาง  ฝ่าวิกฤติ‘ยาง3ชาติ’

ความต้องการช่วงขาลง

ผลผลิต-ความต้องช่วงขาลง

ส่วนจุดแข็งในกรณีที่ยางมีความต้องการสูงขึ้นมา จะปรับตัวเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าคือฝั่งการใช้ ขณะที่ฝั่งการผลิตจะปรับช้ากว่า เพราะผลผลิตใหม่จะเพิ่มขึ้นจะต้องใช้เวลา 7 ปีในการปลูก ก็จะผลักดันให้ได้ราคาราคาสูงขึ้น แต่วันนี้สถานการณ์ยางปัจจุบันอยู่ในขาลงทั้ง 2 ฝั่ง

"คำว่าขาลงในที่นี้หมายถึง ทั้งความต้องการและผลผลิตก็ลดลง ยอดส่งออกของทั้ง 3 ประเทศในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้รวมแล้วประมาณ 5 แสนตัน ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนพอสมควร เรียกว่าสูงกว่ามาตรการจำกัดการส่งออกครั้งที่ 6 ที่ 3 ประเทศต้องลดส่งออกรวมกัน 2.4 แสนตัน เป็นระยะเวลา 4 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน- 19 กันยายน 2562 (กราฟิกประกอบ) แต่ในขณะเดียวกันถามว่ามีผลทำให้ราคายางเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะความต้องการของตลาดก็ลดลงเช่นกัน ส่งผลให้ราคายางในตลาดโลกทรงๆ และราคายางในประเทศไม่ได้ปรับขึ้น"

ไม่ค้านประกันรายได้ 

 ประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลก 37% เพราะฉะนั้นถ้าทำให้ราคายางทั้งโลกสูงขึ้น อีก 63% ก็จะได้ประโยชน์ด้วยโดยที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไร และต้องใช้เงินมหาศาลไม่คิดว่ารัฐบาลไทยควรจะทำ ดังนั้นจึงมาสู่นโยบายในเรื่องของการสนับสนุนด้านการชดเชยด้านราคาที่ให้เฉพาะเกษตรกรไทย มาเลเซียเองก็มีจะใช้มาตรการนี้บ่อยครั้ง  ขณะที่อินโดนีเซียจะมีช่วยอย่างอื่นแต่ไม่ชัดเจนเท่ากับไทยและมาเลเซีย

ซีอีโอเออร์โก้ กล่าวช่วงท้ายว่า “ความร่วมมือของ 3 ประเทศ เป็นจุดยืนที่ร่วมกัน เพราะเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นสวนยางรายย่อยโดยส่วนใหญ่ เกษตรกรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคายางในขณะนี้เช่นกัน ดังนั้นความร่วมมือของ 3 ประเทศเพื่อให้ราคายางปรับตัวดีขึ้น และทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ในฐานะที่เป็นซีอีโอคนใหม่ก็พยายามผลักดันมาตรการใหม่ๆ อย่างเต็มที่”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,518 วันที่ 31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2562

ซีอีโอใหม่ IRCo   ดันทุกทาง  ฝ่าวิกฤติ‘ยาง3ชาติ’