ร้องศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวแบน 3 สารเคมี

28 ต.ค. 2562 | 07:19 น.

โอดต้นทุนเพิ่ม แบกภาระอื้อ หลังยกเลิกแบน 3 สารเคมีไม่ชอบธรรม ไร้มาตรการร้องรับเคว้ง “อัญชุลี” พร้อมกับตัวแทน 6 จังหวัด ฟ้องกราวรูด ในข้อหาเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม ละเลยปฏิบัติหน้าที่ ละเมิดสิทธิเกษตรกร

 

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ผลประชุมคณะกรรมการฯวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 เรื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส อันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 (ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออกและมีไว้ครอบครอง) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 มติผู้เข้าร่วมประชุม รวม 26 คน จาก 29คน ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตฯ เสนอ พร้อมกับให้กรมวิชาการเกษตร ไปพิจารณาระยะเวลาและความเหมาะสมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายที่ยังคงเหลืออยู่ หลังจากประกาศมีผลบังคับใช้โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร หรือร้านจำหน่ายเป็นต้น

ร้องศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวแบน 3 สารเคมี

วันที่ 28 ต.ค.62 นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ในฐานะผู้แทนเกษตรกรดำเนินสะดวก พร้อมกลุ่มเกษตรกรคัดค้านยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ตัวแทนจากเกษตร 1,091 คน ใน 6 จังหวัด ได้แก่จันทบุรี ,ระยอง ,นครราชสีมา ,สุพรรณบุรี ,ราชบุรี และสมุทรสาคร เปิดเผยว่า  ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงศาลปกครอง ยื่นฟ้องต่อ คณะกรรมการวัตถุอันตราย ,คณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในข้อหาเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม ละเลยปฏิบัติหน้าที่ ละเมิดสิทธิเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลกระทบ ความเดือดร้อน และความเสียหาย จากมติการยกเลิกใช้ 3 สารเคมี ได้แก่ พาราคลอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ธันวาคมนี้

ร้องศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวแบน 3 สารเคมี

ทั้งนี้กลุ่มได้นำข้อมูลมาประกอบการพิจารณา ทั้งเกี่ยวกับงานวิจัยและการตรวจสอบต่างๆ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่ง เพิกถอนกฎหรือคำสั่งของมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เกี่ยวกับการยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี  หรือสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในระหว่างนี้ให้กรมวิชาการเกษตร กำหนดแผนหรือมาตรการรองรับแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยเร็วที่สุด ยืนยันว่า การแบน 3 สารเคมี สร้างภาระให้กับเกษตรกร มีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และเกษตรกรกรจำนวนมาก ยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้ 3 สารในการทำการเกษตร ซึ่งหากทั้ง 3 สารเคมีถูกแบนจริง ก็จะต้องหาสารอื่นมาทดแทน และออกมาตรการเยียวยาเกษตรกรมา แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นความคืบหน้าของมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนและไม่แน่ใจว่า ในเชิงปฎิบัติจะทำได้จริงหรือไม่ กังวลว่าจะทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นกว่าเดิม