กังขาท้ายสัญญาไฮสปีด รัฐแบกภาระแทนเอกชน

27 ต.ค. 2562 | 23:30 น.

 

คนในกพอ.กังขา แก้สัญญาแนบท้ายไฮสปีดเอื้อเอกชน ช่วง “สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” หากส่งมอบพื้นที่ 100% ไม่ทันตามกำหนด รัฐต้องรับผิดชอบแทน “วรวุฒิ” ยํ้าส่งมอบทันแน่

การเซ็นสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความ
เร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จบลงอย่างชื่นมื่นเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 62 ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) ทั้งนี้นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารระบุภายใน 12 เดือนนับจากนี้จะเข้าพื้นที่ลงมือก่อสร้าง

การลงนามในสัญญามีข้อสังเกต ข้อความในสัญญาแนบท้ายไฮสปีดมีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของโครงการ สรุปใจความว่า หากรัฐส่งมอบพื้นที่
100% ไม่ทันตามกำหนด รัฐจะแก้ปัญหารับผิดชอบแทนเอกชน 

อย่างไรก็ตาม ข้อความนี้ถูกกำหนดขึ้นโดยเอกชนเพื่อสร้างความผ่อนคลาย ในขณะเวลาเซ็นสัญญาที่กำหนดใกล้เข้ามา เมื่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าสามารถช่วยให้ส่งมอบพื้นที่ได้ทัน และที่ปรึกษากฎหมาย เห็นว่า ไม่ขัดเงื่อนไขสัญญา (ทีโออาร์) สามารถกระทำได้ ทำให้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานเห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าว โดยไม่ได้เสนอร่างแนบท้ายสัญญาที่แก้ไขส่งต่อให้อัยการ

มองว่า อาจเป็นการช่วยเอกชน แต่หากมีการเปิดร่างสัญญาออกสู่สาธารณะเมื่อใดเชื่อว่า เอกชนที่เป็นคู่แข่งขันหลายรายจะยื่นฟ้องต่อศาล

จากการยืนยันของแหล่งข่าวในคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ยืนยัน ยังกังขาเอกสารแนบท้ายสัญญาส่งมอบพื้นที่ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เขียนเงื่อนไขมัดรัฐบาลแก้ผลกระทบให้เอกชน แทนการเจรจาขยายเวลาก่อสร้าง ทั้งนี้ ในเอกสารแนบมีข้อความว่า “รัฐจะแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเอกชนคู่สัญญา” หากรฟท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ได้ครบ 100% ภายในกำหนด ซึ่งประเมินว่าเกินจากทีโออาร์ ที่กำหนด ที่ว่าจะเจรจาขยายเวลาการก่อสร้างให้เอกชนคู่สัญญา ซึ่งมีการใส่ไว้ในเอกสารแนบเพื่อไม่ต้องส่งกลับไปให้อัยการสูงสุดพิจารณาอีก

สำหรับสัญญาหลักข้อ 24.2 ข้อตกลงการกระทำของรฟท. ระบุชัดเจนว่า หาก รฟท. ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ของโครงการฯ ตามที่กําหนดไว้ โดยไม่ใช่ความผิดของเอกชนคู่สัญญา คู่สัญญาตกลงว่า รฟท. จะพิจารณาขยายระยะเวลาของงาน ในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กําหนดไว้ และ/หรือระยะเวลา ของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายตามที่กําหนดไว้ ออกไปก็ได้ โดยการขยายระยะเวลานี้จะไม่ส่งผลกระทบหรือ ทําให้ระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กําหนดไว้ และระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายตามที่กําหนดไว้สั้นลง ทั้งนี้ 

ในระหว่างที่มีการขยายระยะเวลาออกไปตามข้อนี้ หากมีการเริ่มการให้บริการเดินรถและ บํารุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูง และ/หรือแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ส่วนต่อขยายก่อนกําหนดตามที่กําหนดไว้ในข้อ 15.1 (1) (น) รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะตกลง เกี่ยวกับผลประโยชน์ตอบแทนที่เอกชนคู่สัญญาจะต้องแบ่งให้กับ รฟท. ตามที่กําหนดไว้ในข้อ 15.1 (1) (2) 3) โดยเอกชนคู่สัญญาตกลงและยอมรับว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับนั้นครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเอกชนคู่สัญญาทั้งหมดแล้ว และเอกชนคู่สัญญาตกลงจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ เพิ่มเติมจาก รฟท. เพราะเหตุส่งมอบพื้นที่ของโครงการฯ ไม่เป็นไปตามที่กําหนด ไว้อีกได้

ด้าน นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สะท้อนมุมมองว่า ทุกฝ่ายต้องใช้ความพยายาม ส่งมอบพื้นที่ให้ทันเวลาอยู่แล้ว อยากให้ทุกฝ่ายให้กำลังใจรัฐ นี่เพิ่งแค่เริ่มต้น

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,517 วันที่ 27 - 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กังขาท้ายสัญญาไฮสปีด  รัฐแบกภาระแทนเอกชน