ชงครม.ไฟเขียวเวนคืนที่แนวไฮสปีด 29 ต.ค.นี้

26 ต.ค. 2562 | 05:18 น.

ผู้ว่า รฟท. เผยความคืบหน้า จ่อเสนอเรียกเวนคืนที่ดิน ตามแนวรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เข้า ครม.สัปดาห์หน้า หลังเซ็นสัญญาลุล่วง 

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการณ์ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าสัปดาห์หน้า เตรียมเสนอร่างพระราชกฤษฏีกาเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน บริเวณท้องที่ เขตลาดกระบัง- ฉะเชิงเทรา - อู่ตะเภา  จำนวน 850ไร่ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 ตุลาคมนี้ และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป  ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและโซนศรีราชา ของจังหวัดชลบุรี  โดยคาดว่า จะใช้เวลาเวนคืนส่งมอบพื้นที่ส่วนนี้ได้ภายในระยะเวลา 2ปี นับจากเช็นสัญญา  ส่วนกรณี ผู้บุกรุก รฟท.เตรียมลงพื้นที่ไล่รื้อจำนวน 210 ไร่กว่า 513 หลังคาเรือน เช่น พระราม6-พญาไท 81 หลัง, ประดิพัทธ์ 29 หลัง , หัวหมาก 27 หลัง , เขาชีจรรย์ 3 หลัง, บางแสน1หลัง ,และ พัทยา 95 หลัง เป็นต้น

ชงครม.ไฟเขียวเวนคืนที่แนวไฮสปีด 29 ต.ค.นี้

ทั้งนี้ รายละเอียดในสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ระหว่าง รฟท. และ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าซีพีและพันธมิตร) นั้น ตามกำหนด ซีพีจะต้องออกแบบการก่อสร้างภายใน 3 เดือนหลังจากนี้เพื่อให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องนำไปวางแผนในการย้ายสาธารณูปโภค ส่วนในสัญญาและแนบท้าย ได้กำหนดขั้นตอนกรอบเวลาในการดำเนินงานไว้ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน

1. โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (พญาไท-มักกะสัน-สุวรรณภูมิ) ซึ่งจะทำแผนการรับโอนและการปรับปรุงเพื่อรองรับระบบรถไฟความเร็วสูง 
2. ส่วนที่ยากที่สุด คือ การก่อสร้างแอร์พอร์ตเรลลิงก์ต่อขยาย ช่วงพญาไท-ดอนเมือง และ 
3. ส่วนที่ต้องตกลงในเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างที่มีระยะทางยาวที่สุด คือ ช่วง สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา

นายวรวุฒิ ยังกล่าวว่า ส่วนการพัฒนาพื้นที่มักกะสัน 140 ไร่ ตามแผนจะลงทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอย 2 ล้านตร.ม เพื่อกำหนดให้เป็นศูนย์กลาง มีกิจกรรมรองรับนักเดินทางดังกล่าว เช่น โรงแรม รีเทล พร้อม ศูนย์วิจัยพัฒนาระบบรางให้ รฟท.ด้วย

ด้านการก่อสร้างงานโยธานั้น มี อิตาเลียนไทย และ ช.การช่าง ที่มีความสามารถและเชี่ยวชาญ ส่วน CRCC เชี่ยวชาญด้านระบบรางของรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการบริหารจัดการ โดยบริษัททางรถไฟแห่งชาติอิตาลี หรือ FS เข้ามาร่วมมือในการให้บริการรถไฟ

ชงครม.ไฟเขียวเวนคืนที่แนวไฮสปีด 29 ต.ค.นี้