สยามแก๊สทุ่ม2หมื่นล. ชิงเค้ก LNG ปตท.ป้อนโรงไฟฟ้า

27 ต.ค. 2562 | 03:50 น.

 

“สยามแก๊ส” ท้าชนปตท.นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ประกาศทุ่มเกือบ 2 หมื่นล้าน สร้างคลังและท่าเรือ รองรับ หลังซื้อกิจการไทยพับลิค พอร์ต ที่เกาะสีชัง และตามด้วยคลังที่มาบตาพุด ชี้ตลาดยังเปิดกว้าง รุกเจรจาโรงไฟฟ้าเอสพีพีที่กำลังหมดสัญญาซื้อขายก๊าซ ตั้งเป้า 5 ปี รายได้ 5 หมื่นล้าน

 

นโยบายเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ของรัฐบาลที่กำลังเป็นรูปเป็นร่าง เพื่อลดการผูกขาดการนำเข้าของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้ปัจจุบันมีเอกชนรายใหม่อย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP ซึ่งได้ประกาศแผนลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาทในการรุกเข้าสู่ธุรกิจแอลเอ็นจี และจะเริ่มก่อสร้างคลังแอลเอ็นจีใน พื้นที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี และบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ขนาดรวม 1.9 หมื่นตัน ตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป เริ่มเปิดดำเนินการได้ในปี 2565 และบริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด ที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท กัลฟ์เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีทีแทงค์ เทอร์มินัล จำกัด จากการชนะประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ที่จะมีการสร้างคลังก๊าซแอลเอ็นจีขนาด 4 ล้านตันต่อปี ด้วยงบลงทุนราว 2.8 หมื่นล้านบาท แล้วเสร็จในปี 2566

 

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการนำเข้าแอลเอ็นจีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในรูปแบบ Spot ปริมาณไม่เกิน 200,000 ตัน ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนิน การในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้ ที่มาป้อนโรงไฟฟ้าของตัวเอง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าตลาดยังเปิดช่องอีกมาก ที่จะทำให้มีผู้เล่นหลายรายเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้


 

 

นายศุภชัย วีรบวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด(มหาชน) หรือ SGP เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้รุกเข้าสู่ธุรกิจค้าก๊าซแอลเอ็นจีเต็มตัวแล้ว หลังจากบริษัท สยาม แอลเอ็นจี จำกัด(SLNG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้ซื้อบริษัท ไทยพับลิค พอร์ต จำกัด (TPP) มูลค่า 3,360 ล้านบาท ที่มีทรัพย์สินคลังนํ้ามันและท่าเรือ บริเวณเกาะสีชัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และมีพื้นที่ที่ว่างอีกราว 200 ไร่ ที่จะใช้ลงทุนสำหรับการก่อสร้างคลังกักเก็บ ขนาด 8 หมื่นตัน จำนวน 2 ถัง และขนาด 1 หมื่นตัน จำนวน 2 ถัง รวม 1.8 แสนตัน รองรับปริมาณการจำหน่ายได้ 4 ล้านตันต่อปี ใช้เงินลงทุน 5 พันล้านบาท และที่คลังก๊าซแอลพีจี ที่บางปะกง จะก่อสร้างถังเก็บแอลเอ็นจี ขนาด 5 พันตัน จำนวน 2 ถัง รองรับการจำหน่ายได้ 5-6 แสนตันต่อปี ใช้เงินลงทุน 2.5 พันล้านบาท รวมขนาดถังเก็บ 1.9 แสนตันต่อปี รองรับการจำหน่ายได้ 4-5 ล้านตันต่อปี

 

สยามแก๊สทุ่ม2หมื่นล.  ชิงเค้ก LNG ปตท.ป้อนโรงไฟฟ้า

 

ทั้งนี้ ทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าว จะเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นไป คาดจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้ในปี 2565

 

สำหรับการเข้าสู่ธุรกิจก๊าซแอลเอ็นจีนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้เปิดเสรีการนำเข้า ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา บริษัทมีที่ดินที่ซื้อไว้ที่ ตำบลหนองแฟบ อำเภอมาบตาพุด จังหวัดระยอง ราว 200 ไร่ และได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ในโครงการก่อสร้างท่าเรือความยาว 6-7 กิโลเมตร และคลังก๊าซแอลเอ็นจี ขนาดความจุ 5 หมื่นตัน 2 ใบ รวมเป็น 1 แสนตัน ด้วยงบลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท และได้ทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอมากกว่า 1 ปี เกิดความล่าช้า เพราะเพิ่งเปิด รับฟังความคิดเห็นไปครั้งที่ 2

 

ประกอบกับเป็นช่วงจังหวะที่บริษัท ไทยพับลิค พอร์ตฯ จะขายหุ้นออกพอดี จึงได้เข้าไปซื้อกิจการ ที่จะนำมาลงทุนธุรกิจนำเข้าแอลเอ็นจีได้ทันที เพราะมีพื้นที่ว่างอยู่ราว 200 ไร่ มีท่าเรือ รองรับเรือขนาดใหญ่ได้ และอีไอเอได้ครอบคลุมการก่อสร้างคลังก๊าซไว้แล้ว

 

ส่วนการทำตลาดแอลเอ็นจี นั้น ในปีแรกหรือปี 2565 ตั้งเป้าไว้ที่ราว 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งมองว่ามีความเป็นไปได้ เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่งการเจรจากับโรงไฟฟ้าโครเจนเนอเรชันหรือเอสพีพี บริเวณบางปะกง ที่กำลังจะหมดสัญญาขายก๊าซกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทมีความได้เปรียบด้านราคานำเข้าแอลเอ็นจีที่ตํ่ากว่า เพราะสามารถจัดหาได้ทั่วโลกที่ให้ราคาตํ่า และระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สามารถส่งก๊าซเข้าโรงไฟฟ้าได้ลดต้นทุนที่ตํ่ากว่า แม้ว่าจะขนส่งทางรถบรรทุกก็ตาม

 

ในช่วงแรก หากการเจรจากับโรงไฟฟ้ายังไม่ได้ข้อยุติ บริษัทจะทำตลาดกับภาคอุตสาห กรรมก่อน จากฐานลูกค้าที่ป้อนก๊าซแอลพีจีให้อยู่ เป็นทางเลือกให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง อีกทั้งกลุ่มที่อยู่นอกแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เช่น ภาคใต้ ที่บริษัทสามารถส่งแอลเอ็นจีทางเรือไปบริการได้ ซึ่งในปี 2565 คาดว่าจะมีปริมาณขาย 1 ล้านตันต่อปี สร้างรายได้ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี และในปี 2570 ขยับขึ้นไป 5 ล้านตันปี สร้างรายได้ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนที่จะใช้งบในช่วง 5 ปี (ปี 2563-2567) ไว้ราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในปี 2563 กันไว้สำหรับธุรกิจแอลเอ็นจี 1 หมื่นล้านบาท

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,517 วันที่ 27-30 ตุลาคม 2562

สยามแก๊สทุ่ม2หมื่นล.  ชิงเค้ก LNG ปตท.ป้อนโรงไฟฟ้า