โป๊ะแตก! สหรัฐค้านแบนสารพิษ เบื้องหลังป้องบ.ยักษ์ใหญ่มะกัน

25 ต.ค. 2562 | 09:48 น.

แฉเบื้องลึกปลัดกระทรวงเกษตรฯมะกันร่อนหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ค้านแบน 3 สารพิษ ที่แท้ป้องผลประโยชน์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตและจำหน่ายสารเคมีสหรัฐฯ ชี้อ้างกระทบนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลีกว่า 5 หมื่นล้านเรื่องยกเมฆ

ตามที่นายเท็ด เอ. แมคคินนีย์  ปลัดกระทรวงเกษตร  สหรัฐอเมริกา  ได้ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์  จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี ใจความสำคัญขอให้ไทยพิจารณาเลื่อนการตัดสินใจเกี่ยวกับการยกเลิกใช้สารไกลโฟเซตออกไป(ไทยจะยกเลิก 3 สารได้แก่ ไกลโฟเสต พาราควอต คลอร์ไพริฟอสในวันที่ 1 ธ.ค.2562) อ้างเกษตรกรไทยจะแบกต้นทุนเพิ่มนับแสนล้านบาท 

นอกจากนี้ยังอ้างถึงผลวิจัยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐฯ(อีพีเอ)ระบุสารไกลโฟเสตไม่ได้มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพร่างกายมนุษย์ และหากมีการยกเลิกจะกระทบการค้า(ในแง่การนำเข้าของไทยจากสหรัฐฯ)ในสินค้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล องุ่น และอื่น ๆ ที่ต้องหยุดลงทันที(อ้างจากจะมีการกำหนดให้ปริมาณตกค้างขั้นต่ำของสารเคมีดังกล่าวเป็น 0%) คิดเป็นมูลค่ากว่า 51,850 ล้านบาท ในข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรนั้น

นายวิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี(ไบโอไทย)เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สาระสำคัญของเรื่องนี้มี 2 เรื่อง 1.เป็นการแทรกแซงกระบวนการกำหนดนโยบายเรื่องการแบนสารเคมีของไทย 2.มีนัยเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯในการส่งออกสินค้าเกษตรมาไทย แต่ในเบื้องลึกแล้วในเรื่องที่ 2 นั้นไม่เป็นความจริง

เรื่องแรก สหรัฐฯ อ้างการแบน 3 สารเคมีของไทยไม่อยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยยกผลวิจัยของอีพีเอซึ่งเป็นหน่วยงานของสหรัฐฯ(เอง)มายืนยัน ขณะที่การแบนสารไกลโฟเสตของไทยได้พิจารณาข้อมูลจาก 2 ส่วนคือ1.ข้อมูลจากองค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ(IARC) ที่อยู่ภายใต้องค์การอนามัยโลก(WHO) 

2. พิจารณาจากคำตัดสินของศาลสหรัฐฯ (เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2562)ที่พิจารณาและตัดสินจากพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของ IARC ให้บริษัทมอนซานโต้ ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตยาปราบศัตรูพืชจ่ายเงินชดเชยเหยื่อที่ป่วยเป็นมะเร็งจากการใช้ยาปราบวัชพืชผสมสารไกลโฟเสต 3 ราย คิดเป็นเงินราว 2,500 ล้านบาท และยังเหลืออีก 18,400 คดีที่อยู่ระหว่างพิจารณา 

“การแบนสารอันตรายของไทยพิจารณาจากองค์ประกอบที่กล่าวมา จะมาบอกว่าเราไม่มีข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มารับรองไม่เป็นความจริง นอกจากนี้แล้วศาลแคลิฟอร์เนียยังตัดสินให้อีพีเอแบนสารคลอร์ไพริฟอส จากเห็นว่าอีพีเอไม่ได้คุ้มครองสุขภาพประชาชน และที่มากกว่านั้นคือนายเท็ด เอ.แมคคินนีย์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ สหรัฐที่ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีของไทย ก่อนหน้านี้เคยทำงานอยู่กับบริษัท Dow AgroSciences  หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายเคมีเกษตรรายใหญ่ของสหรัฐฯ มายาวนานถึง 19 ปี และเป็นนายทุนให้กับรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้จนถึงเวลานี้รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังไม่สั่งให้แบนคลอร์ไพริฟอส”

 

เรื่องที่ 2 สหรัฐฯอ้างการแบนสารไกลโฟเสตของไทย จะส่งผลให้ไทยปฏิเสธการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี และสินค้าเกษตรอื่น ๆ ของสหรัฐฯ กระทบการส่งออกมาไทยกว่า 5.1 หมื่นล้านบาท และกระทบผู้ผลิตขนมอบกรอบและบะหมี่สำเร็จรูปของไทยที่มีมูลค่าตลาดกว่า 4 หมื่นล้านบาทที่ต้องพึ่งพาข้าวสาลีนำเข้า 100 % จากไทยจะกำหนดปริมาณสารตกค้างขั้นต่ำของสารเคมีดังกล่าวเป็น 0% ก็ไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีการสุ่มตรวจโดยยึดปริมาณสารตกค้างที่ปลอดภัยตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ(Codex) ภายใต้องค์การการค้าโลก(WTO)เป็นเกณฑ์ในการนำเข้า ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการแบนสารที่สหรัฐฯนำมากล่าวอ้าง

“ไทยไม่ได้มีการนำเข้าถั่วเหลือง หรือข้าวสาลีจากสหรัฐเพียงประเทศเดียว แต่ยังมีการนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ด้วย เช่น บราซิล อาร์เจนตินา ยูเครน เป็นต้น  ซึ่งการนำเข้ามีการสุ่มตรวจค่าสารเคมีตกค้างตามมาตรฐานสากล เราจะไปเลือกปฏิบัติแบนสินค้าสหรัฐฯ แต่ไม่แบนประเทศในสินค้าชนิดเดียวกันไม่ได้” ผู้อำนวยการมูลนิธิไบโอไทย กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● คำต่อคำจดหมาย“มะกัน”เปิดหน้าค้านไทยแบน3สารพิษ

● นายกฯโยนหน่วยงานเกี่ยวข้องแจง"สหรัฐ"ค้านแบนสารพิษไกลโฟเชต