แบ่งเค้กลงตัว ดันบริษัทไฮสปีดฯ ระดมทุนตลาดหุ้น

27 ต.ค. 2562 | 03:45 น.

 

วินาทีประวัติศาสตร์ 13.45 น. วันที่ 24 ตุลาคม 2562 การลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เริ่มต้นขึ้น ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) มี นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ มาร่วมลงนามกับนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น ถือฤกษ์ 13.45 น. ที่เลข 2 ตัวท้ายบวกกันได้ 9 ว่ากันว่าการเซ็นสัญญาครั้งนี้ นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทยที่ภาคเอกชนได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุน PPP กับภาครัฐผลักดันให้เกิดโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ระดับนานาชาตินี้ขึ้นมาได้สำเร็จ แต่กว่าจะมาถึงวันนี้อย่างที่ทราบกันดีผ่านอุปสรรคต่างๆ กินเวลามานานแรมปี

 

ประเด็นที่น่าสนใจ แหล่งเงินลงทุน ของกลุ่มซีพี ระดมทั้งไทยและต่างประเทศ 

 

โดยเฉพาะพันธมิตรอย่างจีนและญี่ปุ่น  ส่วนการเริ่มต้นก่อสร้างจะเริ่มภายใน 12 เดือนนับจากเซ็นสัญญา  และการแบ่งเค้กลงตัว บริษัท รถไฟความเร็วสูงฯสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กิจการร่วมค้าเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งและพันธมิตร) ซีพี 70%  บริษัทช.การช่างจำกัด(มหาชน)/บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM  15% บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น จำกัดหรือ crcc  10% อื่นๆ อาทิ  บมจ.อิตาเลียนไทย หรือ ITD 5% ขณะการพัฒนาพื้นที่มักกะสันสนับสนุนบริการ รถไฟไฮสปีดด้วยงบลงทุน 1.4 แสนล้านบาทและการเปิดโอกาสเจรจาร่วมลงทุนกับผู้ลงทุนรายใหม่ในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม การส่งมอบพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก เอกชน เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายคณิศ แสงสุพรรณ เร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และรื้อถอน ปรับปรุงสาธารณูปโภค ตามกรอบเวลาที่แจ้งไว้ตามจุดต่างๆ รวมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการใหม่เพื่อติดตามการดำเนินงานและรายงานเป็นระยะ ที่สำคัญมองถึงการดึงโครงการนี้เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อระดมทุนและในขณะนี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งคนเข้ามาช่วยดูและให้คำปรึกษาแล้ว

แบ่งเค้กลงตัว ดันบริษัทไฮสปีดฯ ระดมทุนตลาดหุ้น

ในมุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและประธานในพิธีลงนามผู้ปลุกปั้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี สะท้อนภายหลังเซ็นสัญญาว่า ดีใจกับความก้าวหน้าของโครงการนี้ ซึ่งเราขับเคลื่อนมาแล้วกว่า 2 ปี การลงทุนร่วมกันกว่า 2 แสนล้านบาท จะพัฒนาประเทศทั้งในทางบก ทางอากาศ ระบบรางความเร็วสูง และทางน้ำ ทั้งหมดยังสร้างงานสร้างอาชีพ เกิดความเชื่อมั่น สิ่งสำคัญขอให้เชื่อมั่นว่าเราเดินหน้ามาถึงจุดนี้ได้ ถือได้ว่าเดินมาก้าวหนึ่งแล้วและขอให้ทุกคนสนับสนุนให้เดินไปสู่ก้าวที่ 2 ให้ได้

 

จากนี้มีหลากหลายสิ่งที่น่าจับตามอง ทั้งการส่งคืนพื้นที่ที่หลายๆ คนกังวล การรื้อถอนสาธารณูปโภคที่นายวรวุฒิ รักษาการผู้ว่าการรฟท. ผู้จดปลายปากกาครั้งประวัติศาสตร์ คาดการณ์ว่าจะต้องเจอกับปัญหาอย่างแน่นอนเพราะมีบางอย่างอยู่ใต้ดิน จะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร รวมทั้งเรื่องใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง แต่สุดท้ายทุกคนก็ลุ้นให้เสร็จลุล่วงอยู่ดี เพราะเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3517 ระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคม 2562