‘ช้อปแชนแนล’เร่งหาพันธมิตร บุกตลาด โฮมช็อปปิ้ง

29 ต.ค. 2562 | 12:01 น.

“ช้อปแชนแนล” เร่งเครื่องเสริมแกร่งรับตลาดโฮมช็อปปิ้งแข่งเดือด ชูแผนการตลาดครบวงจร ทั้งสินค้ายูนีก -เอ็กซ์คลูซีฟจากญี่ปุ่นเจาะลูกค้าพรีเมียม เพิ่มช่องทางขายคอนเน็กออนไลน์-ออฟไลน์ ขยายกลุ่มนักช็อป จ่อเปิดตัวพันธมิตรใหม่เร็วๆ นี้

 นายสรโชติ อำพันวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ช้อป โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารทีวีช็อปปิ้ง/โฮมช็อปปิ้งภายใต้ชื่อ “ช้อปแชนแนล” ในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ต้องยอมรับว่า ปีนี้ธุรกิจโฮมช็อปปิ้งมีการแข่งขันที่รุนแรงมาก จากการมีผู้เล่นหน้าใหม่ ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการช่องทีวีที่เปลี่ยนแพลตฟอร์มหันมาทำคอนเทนต์เอง และผู้ประกอบการโฮมช็อปปิ้งโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบสัดส่วนกับธุรกิจค้าปลีก จะเห็นว่าโฮมช็อปปิ้งมีสัดส่วนเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นโอกาสที่ตลาดจะขยายตัวได้อีกมาก

‘ช้อปแชนแนล’เร่งหาพันธมิตร บุกตลาด โฮมช็อปปิ้ง

 สำหรับแผนการทำตลาดของช้อปแชนแนลเอง จะเน้นทำตลาดแบบครบวงจร ทั้งการสร้างจุดเด่นและความแตกต่างให้กับสินค้าที่นำมาจำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเฉพาะ (Unique) และหายาก (rare item) รวมถึงสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ จากประเทศญี่ปุ่น โดยสินค้าที่จำหน่ายและทำรายได้หลักจะเป็นกลุ่มจิวเวลรี แฟชั่น เครื่องสำอาง ฯลฯ นอกจากนี้จะเน้นขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านช่องทีวีให้เพิ่มขึ้นอีก 2-3 ช่อง จากปัจจุบันที่มีออกอากาศทางช่อง PSI , GMM และ TRUE หลังจากที่ล่าสุดได้ยุติการออกอากาศในช่อง MCOT Family และ ช่อง 13 (ช่อง 3 แฟมิลี่)

 

ขณะเดียวกันจะขยายแพลตฟอร์มใหม่ที่เชื่อมต่อออนไลน์และออฟไลน์ หรือออมนิ แชนเนล ในการนำเสนอทั้งช่องทางทีวีและออนไลน์ รวมถึงโซเชียลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมาร์เก็ตเพลส อย่างลาซาด้า เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลายและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่อนาคตจะขยายไปยังกลุ่มที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มผู้ที่เริ่มต้นทำงาน รวมทั้งพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่เป็นคอลเลกชันพิเศษ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ด้วย

‘ช้อปแชนแนล’เร่งหาพันธมิตร บุกตลาด โฮมช็อปปิ้ง

 “จุดเด่นและแตกต่างของช้อปแชนแนลคือ เน้นจำหน่ายจิวเวลรี เครื่องประดับ แฟชั่น ฯลฯ เราจะไม่ลงไปเล่นในตลาดเครื่องออกกำลังกาย กระทะ หม้อ หรืออาหารเสริมที่มีผู้เล่นอยู่จำนวนมาก อีกทั้งยังมีสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ร่วมทุนกับเรา ดังนั้นสินค้าจะมีวางจำหน่ายเฉพาะที่ช้อปแชนแนล หาซื้อที่อื่นไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีคอลเลกชันพิเศษที่ให้บริษัทในเครือ เช่น ไลอ้อน , ELLE ฯลฯ พัฒนาขึ้นเพื่อนำมาจำหน่ายโดยเฉพาะ หรือเปิดตัวครั้งแรกที่นี่”

 นอกจากนี้บริษัทยังส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการไปคัดสรรแบรนด์และสินค้าที่มีดีไซน์โดดเด่น มีศักยภาพ หรือ Product Hero นำมาจำหน่าย เพื่อเป็นการช่วยสร้างแบรนด์และยอดขายให้แบรนด์เหล่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับดีมาก และในปีนี้ก็จะนำเสนอแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

‘ช้อปแชนแนล’เร่งหาพันธมิตร บุกตลาด โฮมช็อปปิ้ง

 “สำหรับรูปแบบใหม่ๆ ที่จะมีขึ้นคือ การจัดต้องป๊อป-อัพ สโตร์นำเสนอสินค้า เพื่อให้ลูกค้าจับต้องได้ และคุ้นเคย ขณะที่การหาพันธมิตรมาร่วมสร้างความแข็งแกร่งถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่าช้อปแชนแนล เจรจากับพันธมิตรหลายราย ทั้งผู้ประกอบการทีวี และผู้ผลิตอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตัวได้ในเร็วๆ นี้”

 

 อย่างไรก็ดี การเข้ามาของผู้เล่นจำนวนมาก ทำให้คาดการณ์ว่าตลาดโฮมช็อปปิ้ง/ทีวีช็อปปิ้งจะเข้าสู่เรดโอเชียน หรือทะเลเลือด  ซึ่งนอกจากการแย่งชิงฐานลูกค้าผ่านหน้าจอทีวีและออนไลน์แล้ว ยังเป็นการชิงกันทำโปรโมชัน หั่นราคาที่อาจจะกระทบโดยรวม ซึ่งนายสรโชติ บอกว่า การจะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้น อยู่ที่ว่าใครจะนำข้อมูล (Data) ของลูกค้าที่เก็บรวบรวมได้ มาวิเคราะห์และนำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างการแข่งขันให้ตอบโจทย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอสินค้าอะไร  ช่องทางใด เวลาใดที่จะเหมาะสม

 

‘ช้อปแชนแนล’เร่งหาพันธมิตร บุกตลาด โฮมช็อปปิ้ง

 นายสรโชติ กล่าวอีกว่า อนาคตจะเห็นการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวผ่านในทุกดีไวซ์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ดังนั้นหากรัฐบาลจะส่งเสริมต้องตามให้ทันถึงการหลอมรวมในแต่ละช่องทางว่าจะต้องมีข้อจำกัดหรือกำหนดอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออนไลน์ หรือมาร์เก็ตเพลส เนื่องจากที่ผ่านมาในช่องทางทีวีช็อปปิ้งหรือโฮมช็อปปิ้งผ่านหน้าจอทีวีจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการให้ข้อมูลสินค้า จึงเป็นข้อดีที่สินค้าจะถูกคัดกรองมาแล้วก่อนจำหน่ายให้กับลูกค้า อีกทั้งข้อจำกัดเรื่องข้อมูล จะทำให้ปลอดภัยกับผู้บริโภค และบนหน้าจอทีวีจะมีผู้ประกอบการน้อยรายกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับในโลกออนไลน์ ที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องของการโฆษณา ทำให้เกิดโฆษณาชวนเชื่อ การให้ข้อมูลที่เกินจริง รวมถึงการมีผู้ประกอบการจำนวนมาก ยากแก่การตรวจสอบ

 สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 350 ล้านบาท โดยมียอดขายเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนที่มีรายได้ราว 300 ล้านบาท

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3517 ระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคม 2562