คลังถก3แบงก์เคาะเกณฑ์ เพดานปล่อยกู้พรีและโพสต์ไฟแนนซ์บ้านประชารัฐ

01 เม.ย. 2559 | 07:30 น.
คลังเรียก 3 แบงก์ถกหลักเกณฑ์ปล่อยกู้โครงการบ้านประชารัฐ ชี้ดอกเบี้ย-วงเงินตามกรอบเดิม ชูโมเดลปล่อยกู้ร่วม หรือ ซินดิเคต โลน ด้าน " กรุงไทย" รับหน้าที่กระจายลูกค้าโครงการ-วิเคราะห์สินเชื่อ ลั่นธปท.ห่วงแบงก์หย่อนเกณฑ์ปล่อยกู้ ส่วน "ออมสิน-ธอส." เผยโครงการเสี่ยงไม่ปล่อย

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ทาง สศค.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้กับทาง 3 ธนาคารคือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ถึงแนวทางการปล่อยกู้ให้กับผู้พัฒนาสังหาริมทรัพย์ (Pre Finanace) วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแต่ละธนาคารต้องไปบริหารจัดการกันเอง เนื่องจากโครงการนี้รัฐบาลหรือกระทรวงการคลังไม่ได้ชดเชยในส่วนของส่วนต่างของดอกเบี้ยหรือชดเชยในมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมให้

ทั้งนี้ หากธอส.มองว่ายังติดปัญหาอยู่ที่ว่างเว้นจากการปล่อยสินเชื่อขนาดใหญ่เป็นระยะเวลานาน แนวทางที่นำมาใช้คือ การปล่อยกู้ร่วม หรือ ซินดิเคตโลน โดยให้ธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคารหลัก เพื่อให้ทั้ง 3 ธนาคารสามารถกระจายสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ทำให้เป็นโครงการเดียวกันภายใต้วงเงินสินเชื่อที่ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ แนวทางที่กล่าวนี้จะเป็นรูปแบบของการช่วยกันดูรวมถึงคัดกรอง เพราะจะเห็นว่าธนาคารกรุงไทยมีความเชี่ยวชาญการปล่อยสินเชื่อในลักษณะนี้เมื่อเทียบกับธนาคารออมสินและธอส.ที่ยังไม่มีความชำนาญ

"การปล่อยกู้ให้กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่อรายคาดว่าไม่น่าจะเกิน 1 พันล้านบาท เนื่องจากมีการประมวลต้นทุนเอาไว้อยู่ที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งหากแต่ละเจ้าทำเพียง 1 พันยูนิตต่อโครงการก็ใช้เม็ดเงินประมาณ 1 พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเฉลี่ยต่อโครงการเมื่อคิดบนต้นทุนการตกแต่งค่าเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 พันล้านบาทต่อยูนิตเท่านั้น ที่สำคัญประเมินแล้วว่าต่อโครงการขนาดของพื้นที่มีความสำคัญขณะนี้พื้นที่ขนาดใหญ่ที่รองรับ 3 พันยูนิตขึ้นไปแทบจะหาไม่ได้แล้ว ดังนั้นโครงการพัฒนาโดยนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะต้องกระจายโครงการไปยังพื้นที่ต่างๆ"

[caption id="attachment_41704" align="aligncenter" width="332"] กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่
ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.)[/caption]

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในวันที่ 30 มีนาคม 2559 กระทรวงการคลังได้เรียกทั้ง 3 ธนาคารเข้าประชุมหารือเรื่องกรอบและกฎเกณฑ์การปล่อยกู้สินเชื่อบ้านประชารัฐทั้งในส่วนของฝั่งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ (Pre Finance) และผู้กู้รายย่อย (Post Finance) แต่คาดว่าหลักเกณฑ์น่าจะยังคงเหมือนเดิม คือ ในส่วนของผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ ราคาบ้านจะต้องไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และซ่อมแซมตกแต่ง 7 แสนบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกอยู่ที่ 4% และตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) -1% ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยจะเป็นตัวกลางในการกระจายลูกค้าให้กับธนาคารออมสินและธอส. เนื่องจากธนาคารมีฐานลูกค้าที่มีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ต้องการเข้ามาร่วมทำโครงการดังกล่าว โดยวงเงินการปล่อยกู้จะเป็นการแบ่งกันในเม็ดเงินเท่าๆ กันทั้ง 3 ธนาคาร

อย่างไรก็ดี กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเป็นห่วงในเรื่องการปล่อยสินเชื่อในโครงการดังกล่าว ปัจจุบันธปท.ยังไม่ได้มีการเรียกประชุมแต่อย่างใด แต่คิดว่าสิ่งที่ธปท.กลัวน่าจะเป็นเรื่องของความเสี่ยงของการปล่อยกู้ลูกค้าโครงการ เนื่องจากมีผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลางให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ซึ่งอาจมีทั้งศักยภาพและไม่มีศักยภาพ ทำให้ธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแลให้ความเป็นห่วงเรื่องความเสี่ยงหากธนาคารปล่อยกู้หย่อนมาตรฐานของเกณฑ์การบริหารความเสี่ยง หรือกรณีการปล่อยกู้รายย่อยอาจจะห่วงเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ เป็นต้น

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า กรอบการประชุมร่วมกับกระทรวงการคลังในวันที่ 30 มีนาคมนี้ น่าจะเป็นการหารือเกี่ยวกับหลักเกณฑ์-เพดานการปล่อยกู้ และข้อเป็นห่วงของธปท.ในเรื่องการบริหารความเสี่ยง ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยและวงเงินเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิม อย่างไรก็ดี หลักการปล่อยกู้ จะแบ่งเป็น 2 กรณี คือหากผู้ประกอบการโครงการขนาดเล็กวงเงินประมาณ 100-200 ล้านบาท จะให้แต่ละธนาคารเป็นผู้ปล่อยเอง แต่หากเป็นโครงการขนาดใหญ่วงเงินสูงกว่า 200 ล้านบาท จะเป็นการปล่อยกู้ร่วม (Syndicated Loan) ทั้ง 3 ธนาคาร ซึ่งหลักการพิจารณาสินเชื่อจะให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้วิเคราะห์สินเชื่อเบื้องต้น และค่อยส่งให้ธนาคารออมสินและธอส.พิจารณาอีกที หากมีความเห็นตรงกันทั้ง 3 ธนาคารก็สามารถปล่อยสินเชื่อได้ แต่หากมีความเห็นไม่ตรงกันจะต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะธนาคารจะต้องคำนึงถึงหลักการบริหารความเสี่ยง และความเป็นไปได้ของโครงการเป็นหลัก

"กระทรวงการคลังนัดหารือในวันที่ 30 มีนาคมนี้ อาจจะเป็นการหารือในรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของพรีและโพสไฟแนนซ์ เช่น สัดส่วนการปล่อยกู้ วงเงินต่อโครงการ หรือกำหนดเป็นรายต่อราย ซึ่งจะมีการลงลึกในรายละเอียด ส่วนวงเงินกับอัตราดอกเบี้ยเหมือนเดิม เพราะมีมติครม.ออกมาแล้ว แต่โดยหลักการและหัวใจสำคัญ คือ ความเป็นไปได้ของโครงการที่ทุกธนาคารจะให้ความสำคัญ"

ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานสินเชื่อ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวถึงเกณฑ์การปล่อยกู้ของแต่ละธนาคารจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) ทั้ง 3 ธนาคารเป็นผู้กำหนด ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการประชุมร่วมกับสศค.เพื่อกำหนดกรอบการปล่อยกู้ มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ภายใต้กรอบเดียวกันทั้ง 3 ธนาคาร เช่น ทุนจดทะเบียน และเพดานการปล่อยกู้ วงเงินของการปล่อยกู้แต่ละโครงการ และมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกรุงไทยจะเข้ามาเป็นผู้จัดการเงินกู้ (Lead Arranger) ส่วนธนาคารออมสินและธอส.จะปล่อยกู้ในลักษณะการปล่อยกู้ร่วม ส่วนกรณีที่ธปท.เป็นห่วงเกี่ยวกับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการกระทรวงการคลังจะนัดธนาคารทั้ง 3 แห่งเข้ามาหารือและกำหนดหลักเกณฑ์

"แบงก์ชาติต้องการให้ 3 แบงก์มาหารือกัน เพื่อกำหนดกรอบปล่อยกู้เบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นขนาดของโครงการ การกำหนดทุนจดทะเบียนของผู้ประกอบการ และกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินของผู้ประกอบการ ว่าเป็นเจ้าของที่ดินเองหรือไม่ ซึ่งในการปล่อยกู้โครงการให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ คาดว่าจะเป็นโครงการขนาดไม่ใหญ่นัก อาจเป็นบ้านแถวชั้นเดียว และจะต้องขายในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท"

ทั้งนี้ จากการประเมินของธอส.ในเบื้องต้น คาดว่า จะปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดโครงการ 200 ยูนิต วงเงินกู้ประมาณ 200-300 ล้านบาท ซึ่งในปัจจุบันธอส.มีพอร์ตสินเชื่อผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์อยู่ประมาณ 7 พันล้านบาท และที่ผ่านมาจะปล่อยกู้โครงการอสังหาฯ เฉลี่ยต่อปีประมาณ 800-1,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการก่อสร้างแฟลต หรือรูปแบบในลักษณะตึกสูงเป็นหลัก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2559