กะเทาะมุมมองธุรกิจ เจน 3 ทายาทนันยาง “จักรพล จันทวิมล”

27 ต.ค. 2562 | 04:25 น.

ทันทีที่ทายาท ก้าวขึ้นทำหน้าที่ผู้บริหาร นั่นหมายถึงว่า เราสิ้นสุดการเป็นเจ้าของ…นี่คือสิ่งที่ “จักรพล จันทวิมล” ทายาทเจน 3 ของ รองเท้าผ้าใบ “นันยาง” กล่าวไว้ในงาน “ทายาทรุ่นสอง” Good Family Business Conference ที่จัดโดย The Cloudทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

“จักรพล” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด อธิบายว่า มันคือบริบทของการทำงาน… ปัญหาการทำธุรกิจของทายาท คือ การเอาครอบครัว เจ้าของ และธุรกิจ มาซ้อนทับกัน ถ้าจะไม่ให้เกิดปัญหา ต้องแยก 3 ส่วนนี้ออกจากกัน ลูกเจ้าของ ไม่ใช่ เจ้าของ, เจ้าของ ไม่ใช่ ผู้บริหาร

 

ในขณะเดียวกัน ทายาทก็ต้องทำงานเหมือนเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ต้องไม่ใช่เอาความเป็นทายาทมาบริหารงาน เพราะนั่นจะทำให้ตัวเเองเกิดความรู้สึกเหนือคนอื่น วิธีการทำงานต้องมีความเป็นมืออาชีพ คือคิดแบบเจ้าของและทำงานแบบคนทำงานมืออาชีพโดยอาจจะไปฝึกฝนด้วยการไปทำงานที่อื่นมาก่อน เรียนรู้การทำงาน เรียนรู้การอยู่ร่วมกับเพื่อนร่วมงาน

กะเทาะมุมมองธุรกิจ เจน 3 ทายาทนันยาง “จักรพล จันทวิมล”

จากแนวคิดและวิธีการทำงาน ซึ่งครอบครัวธุรกิจนันยางวางกรอบไว้ ทำให้ “จักรพล” ได้เข้ามาสานต่อธุรกิจของครอบครัว หลังจากได้เข้าไปทำงานในเอสซีจีมาแล้ว 2-3 ปี หลังจากนั้นจึงออกไปเรียนต่อปริญญาโท และกลับเข้ามาทำงานกับธุรกิจครอบครัว สานต่อธุรกิจนันยางที่มีอายุเกือบ 70 ปี ให้กลายเป็นแบรนด์ร่วมสมัย

ตลอดระยะเวลาที่ได้ทำงานกับครอบครัวกว่า 10 ปี “จักรพล” ยอมรับว่า มีล้มลุกคลุกคลานมาพอสมควร ความท้าทายแรกของการเข้ามาทำหน้าที่บริหารด้านการตลาดและการขาย คือ คนเกิดน้อยลง เด็กนักเรียน ไม่เพิ่มจำนวน ในขณะที่การแข่งขันรุนแรงขึ้น ทุกคนทำสินค้าเหมือนกันหมด แล้วจะทำการตลาดอย่างไรให้นันยางอยู่รอด และอยู่ได้

 

สิ่งที่ทำในตอนนั้นก็คือ การขยายฐานลูกค้า ด้วยการออกรองเท้าผ้าใบนักเรียนชาย “นันยาง แฮฟ ฟัน” เจาะตลาดเด็กประถม อายุระหว่าง 6-9 ปี นอกจากนี้ยังขยายตลาดจากรองเท้าเด็กผู้ชาย มาสู่กลุ่มผู้หญิง พร้อมทำงานวิจัยศึกษาความต้องการของตลาดนักเรียนหญิง ในที่สุด นันยาง ก็ผลิตรองเท้าผ้าใบสำหรับนักเรียนหญิง รุ่น “นันยาง ชูการ์” ที่สามารถสร้างยอดขายถล่มทลาย

กะเทาะมุมมองธุรกิจ เจน 3 ทายาทนันยาง “จักรพล จันทวิมล”

 

 

“จักรพล” เล่าต่อว่า การทำตลาด หรือการขายงานไม่ว่าจะกับพ่อแม่ หรือกับลูกค้า สิ่งที่จะทำให้ผ่านฉลุย มีเคล็ดลับอยู่ 3 ข้อ คือ 1. 5W1H 2. Feasibility Study + ROI และ 3. Worst-Case Scenario

 

ขยายความ 3 เคล็ดลับ เริ่มจาก 1. 5W1H หรือ The Kipling method ได้แก่ Who, What, Where, When, Why และ How ต้องมีคำตอบครบถ้วน 2.Feasibility Study+ROI คือ การศึกษาความเป็นไปได้แต่ละด้าน เพื่อให้แน่ใจว่าน่าทำ น่าลงทุนหรือไม่อย่างไร ส่วน ROI (Return on Investment) ผลตอบแทนจากการลงทุน จะคุ้มค่า และได้กำไรหรือไม่ และ3. Worst-Case Scenario ต้องมองให้ทะลุ และเตรียมแผนรับมือ หากเกิดกรณีผิดพลาดเลวร้ายที่สุด

 

ทั้งหมดทั้งมวล ของเคล็ดลับ “จักรพล”เน้นยํ้าว่า ไม่ว่าจะทำอะไร สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมเสียก่อน คือ การเตรียมความพร้อมภายในองค์กรให้ดี รวมทั้งพยายามลองผิดลองถูก เมื่อเกิดความผิดพลาด ก็ต้องรีบเรียนรู้ และลุกขึ้นใหม่ให้เร็ว
และต้องทำให้ทุกคนในองค์กร เรียนรู้ และทำในสิ่งที่รับผิดชอบให้ดี ซึ่งทั้งหมดนั่นคือ กลไกขับเคลื่อนให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน ด้วย Organic Growth หรือการเติบโตของบริษัทที่เติบโตด้วยทรัพยากรหรือสินทรัพย์ที่มีอยู่

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,516 วันที่ 24 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2562

กะเทาะมุมมองธุรกิจ เจน 3 ทายาทนันยาง “จักรพล จันทวิมล”