มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ทำตลาดปีนี้พลิกเป็นบวกได้

23 ต.ค. 2562 | 08:45 น.

ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ มั่นใจมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ มาถูกทาง ช่วยลดสต๊อกบ้านเหลือค้างได้ เชื่อทำปีนี้ตลาดพลิกกลับเป็นบวกได้ หลังก่อนนี้มองติดลบ 5% แต่รับห่วงคนขอกู้ไม่ผ่านเกณฑ์ LTV

 

มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ทำตลาดปีนี้พลิกเป็นบวกได้
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การที่ ครม.เห็นชอบให้มีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนองเหลืออย่างละ 0.01% รวมถึงออกสินเชื่อดอกเบี้ย 2.5% คงที่ 3 ปี อีก 50,000 ล้านบาท ถือเป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ได้ เพราะปัจจุบันที่อยู่อาศัย ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด คอนโดมิเนียม ที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่เหลือค้างสต็อกในตลาดมากถึง 50% ของที่อยู่อาศัยทั้งหมดในระบบ อีกทั้งยังช่วยให้คนที่อยากมีบ้าน แต่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายการโอนซี่งมีอยู่มาก มีภาระลดลง ช่วยให้โอกาสมีบ้านได้ง่ายขึ้น 

สำหรับผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ เชื่อว่าในช่วงระยะสั้นคนจะชะลอการโอนออกไปก่อน เพื่อรอจนกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการจะหันมาจัดโปรโมชันกระตุ้นยอดขายมากขึ้น เพื่อต้องการเร่งปิดยอดสิ้นปีนี้ให้ได้ตามเป้าหมาย แต่มองว่าภาพรวมตลาดอสังหาฯในปีนี้ยังน่าจะติดลบจากปีที่แล้วอยู่ อย่างไรก็ตามในปีหน้าน่าจะเห็นผลดีจากมาตรการต่อตลาดอสังหาฯเต็ม ซึ่งเดิมทีคาดว่าปีหน้าอาจติดลบที่ 5% แต่เมื่อมาตรการออกมาแล้วก็น่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อย 

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ศูนย์อสังหาริมทรัพย์ฯ มีความเป็นห่วง คือ ปัญหาผู้ต้องการซื้อบ้านแต่กู้ไม่ผ่าน เนื่องจากธนาคารมีการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมาก อีกทั้งยังเจอเกณฑ์ควบคุมอสังหาริมทรัพย์(LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นจึงอยากให้รัฐช่วยผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยกู้ เช่น การตรวจดูประวัติหนี้เสียที่สั้นลงเหลือแค่ 1 ปี จากเดิมที่ดูย้อนหลังนานหลายปี เพราะมีบางคนที่เคยทำผิดไปมีปัญหาหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล แต่เมื่อแก้ปัญหาได้แล้วก็ควรช่วยเหลือให้มากู้บ้านได้ 

มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ทำตลาดปีนี้พลิกเป็นบวกได้

รายงานข่าวจากบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด แจ้งว่า การที่ ครม.ได้เห็นชอบให้มีมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม 2 มาตรการ จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะช่วยหนุนตลาดในช่วงที่เหลือของปีต่อเนื่องไปยังปีหน้า  อย่างไรก็ดีตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ทำให้มองว่ามาตรการนี้จะไม่ได้เปลี่ยนมุมมองที่ระมัดระวังต่อแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในภาพรวมของปี 62 แต่อาจช่วยให้ ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในปี 62 นี้ เพิ่มจาก 121,730 หน่วย (ม.ค.–ส.ค. 62) ขยับไปแตะกรอบบนที่เคยได้ประมาณการไว้เมื่อกลางปีที่ 177,000 หน่วยหรือหดตัวลง 10% จากปี 61