TMB ชิมลางปล่อยกู้ แม่ค้าออนไลน์บนลาซาด้า

22 ต.ค. 2562 | 11:39 น.

ทีเอ็มบี ปลื้มส่ง 2 โปรแกรมทดลองปล่อยกู้แม่ค้าออนไลน์บนลาซาด้า 6 เดือนไม่มียอดชำระล่าช้า ลูกค้าตบเท้าแห่ขอวงเงินสินเชื่อ ปี 63 จ่อขยายพันธมิตรเพิ่ม เล็งอนุมัติสินเชื่อภายใน 1 วัน ลั่นผลสำรวจตลาดอีคอมเมิร์ซโตกระฉูด คาดปี 62 ยอดทะลุ 6.8 แสนล้านบาท

นายพร้อมพงษ์ พัฒนธีระเดช หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร บริหารผลิตภัณฑ์และ Portfolio ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างทดลองปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่อยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Lazada โดยช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีลูกค้าผู้ประกอบการให้ผลตอบรับค่อนข้างดี สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ภายใน 3 วันและคาดว่าภายในปี 2563 จะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ภายใน 1 วัน

TMB ชิมลางปล่อยกู้ แม่ค้าออนไลน์บนลาซาด้า

 ทั้งนี้วงเงินสินเชื่อที่ให้กับผู้ประกอบการที่อยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะแบ่งเป็น 2 โปรแกรม คือ สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเข้าร่วมโครงการเทศกาลเซลล์ ซึ่งลูกค้าจะคืนเงินภายใน 60 วัน และโปรแกรม Day to Day จะเป็นสินเชื่อระยะยาว 1 ปี โดยวงเงินเฉลี่ยให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะอยู่ที่เฉลี่ย 1-1.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่กว่า 10% ต่ำกว่าอัตราเงินกู้สินเชื่อส่วนบุคคลที่คิดอยู่ 28% เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน

 

ดังนั้น การพิจารณาการปล่อยสินเชื่อ จะเน้นดูความสามารถของลูกค้า และการรักษาวินัยของลูกค้า อย่างไรก็ดี ภายในปี 2563 ธนาคารจะขยายความร่วมมือไปยังพันธมิตร (Partner) รายอื่นที่เป็นแพลตฟอร์มและผู้ที่ทำชอฟท์แวร์บริหารบัญชีและสต็อกสินค้า เพื่อเก็บข้อมูลเพื่อเรียนรู้พฤติกรรม ซึ่งในอนาคตจะสามารถนำมาวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อ และต่อยอดเป็นโมเดลการปล่อยสินเชื่อ เช่น Information Base Lending

TMB ชิมลางปล่อยกู้ แม่ค้าออนไลน์บนลาซาด้า

“ตั้งแต่เราทดลองปล่อยสินเชื่อมาราว 6 เดือน เรายังไม่พบปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ เอ็นพีแอล หรือแม้แต่การชำระล่าช้ายังไม่มีเกิดขึ้นจากลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งปีหน้าเราจะขยายสินเชื่อกลุ่มนี้เพิ่มเติม และคาดว่าภายในปลายปี 2563 จะสามารถมีโมเดลการปล่อยสินเชื่อชัดเจนขึ้น”

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ (ETDA) พบว่า มูลค่าของอีคอมเมิร์ซในกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2562 จะอยู่ที่ 6.8 แสนล้านบาท เติบโต 12% จากปี 2561 ที่มูลค่าอยู่ที่ 6.07 แสนล้านบาท และคิดเป็น 20% ของมูลค่าค้าปลีกไทย สอดคล้องกับจำนวนประชากรไทยที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตกว่า 36 ล้านคน และมีจำนวนถึง 12 ล้านคนที่ช้อปปิ้งออนไลน์ และหากดูผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมากกว่า 3 ล้านราย มีประมาณ 2 แสนรายที่เป็นเจ้าของร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Lazada Shopee และ JD Central และอีกประมาณ 3 แสนรายที่ค้าขายบนโซเซียลคอมเมิร์ซ เช่น Facebook Line Instagram 

  TMB ชิมลางปล่อยกู้ แม่ค้าออนไลน์บนลาซาด้า