จีนดันกฎหมายดึงทุนต่างชาติฉบับใหม่ บังคับใช้ต้นปีหน้า

23 ต.ค. 2562 | 03:10 น.

การเจรจาระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้า ซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นข้อตกลงเพียงบางส่วน หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ข้อตกลงเฟส1” ที่จะเน้นเรื่องการเปิดตลาดด้านบริการของจีน การให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการสั่งซื้อสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมาก ยังคงเดินหน้าต่อไปโดยทั้ง 2 ฝ่ายต่างมุ่งหมายว่า เนื้อหาของข้อตกลงน่าจะเสร็จทันและพร้อมสำหรับการลงนามเมื่อผู้นำจีนและสหรัฐฯ มาพบกันในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก ที่ประเทศชิลี กลางเดือนหน้า (16-17 พ.ย.) 

 

ระหว่างนี้ มีสัญญาณที่ดีหลายประการจากทางฝ่ายจีน ซึ่งนอกเหนือจากการให้คำมั่นว่าจะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าระหว่าง 40,000-50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว อีกสิ่งที่เป็นความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัดคือ จีนได้ออกกฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ ที่มุ่งหวังช่วยส่งเสริมบรรยากาศการทำธุรกิจของชาวต่างชาติในประเทศจีน จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป 

เอื้อต่างชาติช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

กฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงช่วยลดความตึงเครียดของการเผชิญหน้าทางการค้า แต่ยังจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนเองที่กำลังชะลอตัวลงด้วย เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศและการสร้างงานมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีน นอกจากนี้ การลงทุนของต่างชาติยังจะช่วยยกระดับคุณภาพและมาตรฐานอุตสาหกรรมของจีนสู่ระดับสากลได้เร็วขึ้น นักวิเคราะห์เชื่อว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวจากหลากปัจจัยลบ ดังนั้น การสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการลงทุนของต่างชาติ จึงมีความสำคัญอย่างมากในการที่จะสร้างหลักประกันว่า จีนยังมีคุณสมบัติที่น่าดึงดูดใจในสายตาของนักลงทุน

 

สถิติล่าสุดที่ได้รับการเผยแพร่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 ต.ค.) ชี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ของจีนมีการเติบโตที่อัตรา 6.0 % ซึ่งเป็นอัตราเติบโตต่ำที่สุดในระยะเวลาเกือบๆ 30 ปี 

จีนดันกฎหมายดึงทุนต่างชาติฉบับใหม่ บังคับใช้ต้นปีหน้า

ส่วนตัวเลขการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (FDI) ในจีนแผ่นดินใหญ่ช่วงไตรมาส 3 มีการขยายตัว 6.5% (หน่วยเป็นสกุลเงินหยวน) หรือขยายตัว 2.9% เป็น 100,780 ล้านดอลลาร์ หากคิดเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กระทรวงพาณิชย์จีนเผยว่า ประเทศผู้ลงทุนโดยตรงรายใหญ่ในปัจจุบันเป็นผู้ลงทุนจากฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น 

 

แก้ไขทุกปัญหาแต่ยังไม่สมบูรณ์ 

กฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่นี้ผ่านการรับรองโดยมติของรัฐสภาในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และจะเริ่มมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2563 เน้นให้ความคุ้มครองข้อมูลที่เป็นความลับทางธุรกิจของบริษัทต่างชาติ และป้องกันไม่ให้บริษัทผู้ร่วมทุนฝ่ายจีนบีบบังคับให้บริษัทต่างชาติต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งเป็น 2 ประเด็นที่สร้างความขัดแย้งและจีนเองก็ถูกกล่าวหาในเรื่องนี้มาโดยตลอด ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่จึงเท่ากับเป็นการยืนยันว่า จีนรับฟังและตั้งใจจะแก้ไขสิ่งที่เป็นความกังวลใจของประเทศคู่ค้า 

 

ท่าทีที่ผ่อนปรนของจีนและการยอมรับฟังความเห็นของประเทศคู่ค้าเกี่ยวกับอุปสรรคการลงทุน ได้เสียงตอบรับในเชิงบวกจากคู่ค้าอย่างสหภาพยุโรป (อียู) โดยเมื่อเร็วๆ นี้นายเยิร์ก วุตเก ประธานหอการค้าอียูในจีน ให้ความเห็นหลังจากศึกษาเนื้อหาของกฎหมายฉบับใหม่ว่า นี่คือกฎหมายที่ทำให้เห็นว่าจีนใส่ใจและพยายามแก้ไขทุกสิ่งที่ประเทศคู่ค้ากังวลใจ 

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้จะมีความคืบหน้าในบางประเด็น แต่ประเด็นที่เป็นอุปสรรคการแข่งขันและเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ยื่นคัดค้านต่อรัฐบาลจีนมาโดยตลอดก็ยังคงมีอยู่ เช่น การที่จีนให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชน ทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ 

 

สกอตต์ เคนเนดี ที่ปรึกษาอาวุโส  ศูนย์กิจการระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ศึกษา ให้ความเห็นว่า จีนไม่เพียงให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ แต่ยังขัดขวางต่างชาติไม่ให้เข้าไปซื้อกิจการของจีนได้ง่ายๆ อีกด้วย แม้กิจการนั้นจะไม่ทำกำไรก็ตาม

 

เป็นที่สังเกตว่า ยังไม่มีการระบุถึงบทลงโทษในกฎหมายการลงทุนของต่างชาติฉบับใหม่นี้ ซึ่งอาจสะท้อนว่ามันยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และอาจยังต้องมีการปรับแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาได้อีกในอนาคต 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3516 ระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2562