ช่อง 3 อวดโฉมใหม่หน้าจอทีวี-ออนไลน์

23 ต.ค. 2562 | 23:45 น.

“ช่อง 3” ทยอยส่งผังใหม่ โฉมใหม่บนหน้าจอทีวี-ออนไลน์ ตอกย้ำเป้าหมาย “คอนเทนต์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ แพลตฟอร์ม” ตั้งแต่ปลายไตรมาส 4 ยันปีหน้า มั่นใจสร้างฐานผู้ชมทั้งบนจอทีวีและออนไลน์

นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ ช่อง 3 เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่บริษัทคืน 2 ช่องทีวีไป ทำให้เหลือเพียงช่อง 3 HD (ช่อง 33) นั้น อีกสิ่งที่เปลี่ยนแปลง และนำเสนอออกไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาคือ การปรับโครงสร้างรายการข่าว ซึ่งการเลือกปรับรายการข่าวก่อนคอนเทนต์อื่น เพราะ 1. เป็นรายการที่ผู้ชมคุ้นเคย และเดิมทำไว้ดี มีศักยภาพ 2. สามารถทำได้ทันที หากเปรียบเทียบกับคอนเทนต์ละคร หรือซีรีส์ที่ต้องรอเวลา โดยการปรับครั้งนี้ถือเป็นการปรับครั้งใหญ่ทั้งภายนอกคือ ฉากต่างๆ ให้มีสีสันและทันสมัยขึ้น และปรับภายใน หรือ ไส้ใน ตั้งแต่โพสิชันนิงของรายการ ที่เน้น “ข่าวจริง ทันเหตุการณ์ พึ่งพาได้” การนำเสนอก็ต้องมีความแตกต่าง เพราะวันนี้ข่าวก็คือข่าว ทุกคนสามารถส่งสารและสื่อสารกันได้ แต่ข่าวที่เชื่อถือได้ ช่อง 3 จะเป็นผู้แยกแยะนำเสนอว่า ความจริงคืออะไร

ขณะที่คอนเซ็ปต์ของคำว่า “พึ่งพาได้” คือ การเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนในหลายๆ คดีที่เกิดขึ้น และช่อง 3 นำเสนอความเป็นจริง นับจากนี้จะมีขึ้นในทุกๆ ช่วงเวลา ทั้งช่วงเช้ากับทนายสงกรานต์ หรือช่วงเที่ยงทันเหตุการณ์กับหนุ่ม-กรรชัย และหมวย- อริสรา และรายการข่าวช่วงอื่นๆ ที่จะทยอยออกมา ซึ่งช่อง 3 ได้เสริมทีมงานที่จะลงช่วยประชาชน เพื่อสร้างจุดเด่นและแตกต่าง โดยหมวดหมู่ข่าวจะเน้นไปที่ข่าวอาชญากรรม สังคม และบันเทิงเป็นหลัก ส่วนข่าวการเมือง กีฬาก็ยังมีอยู่ เพราะเป็นสิ่งที่ผู้ชมสนใจ

ช่อง 3 อวดโฉมใหม่หน้าจอทีวี-ออนไลน์

อริยะ พนมยงค์

“วันนี้การจะคิด หรือทำสิ่งใดจะต้องคำนึงถึงในทุกๆ หน้าจอ ไม่ว่าจะจอไซซ์ใหญ่หรือเล็ก จะเป็นทีวีหรือออนไลน์ เราต้องคิดเผื่อทุกหน้าจอ เพราะวันนี้ผู้บริโภคมีความแตกต่าง ผู้ที่ดูผ่านจอทีวี จะเป็นกลุ่มคนที่มีอายุ 35-40 ปีขึ้นไป ส่วนโลกออนไลน์จะมีอายุ 14 ปีลงมา”

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การบริโภคที่ต่างกัน ความชื่นชอบที่ต่างกัน รูปแบบของเนื้อหาและการบริโภคจึงแตกต่างกัน คนที่ดูในออนไลน์จะสมาธิสั้นกว่า การนำเสนอจึงต้องตอบโจทย์ และต้องปรับให้สอดรับกับการจะนำเอาสิ่งที่อยู่บนจอทีวีมาใส่ในออนไลน์ คงไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด ต้องเอามาขยี้ใหม่ให้เป็นรูปแบบที่เหมาะกับเขา อย่างไรก็ดีหลังจากนี้จะเริ่มทยอยเห็นการเปลี่ยนแปลงในหมวดหมู่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นละคร วาไรตี ฯลฯ ตามมาตั้งแต่ปลายไตรมาส 4 จนถึงปีหน้า เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายที่ต้องการให้ช่อง 3 เป็นธุรกิจคอนเทนต์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ แพลตฟอร์ม

นายอริยะ กล่าวอีกว่า โลกออนไลน์ในวันนี้ไม่ใช่อนาคตของทีวี เพราะโมเดลของธุรกิจไม่ยั่งยืน ทุกช่องยังมีรายได้จากออนไลน์ไม่มาก เพราะมูลค่าของสื่อในออนไลน์ยังถูกกว่าสื่อออฟไลน์ และเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศทั้งอเมริกา ออสเตรเลีย หรือสิงคโปร์ อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาคือทำให้สื่อออนไลน์มีมูลค่า ซึ่งมีกลไกบางอย่างที่แก้ได้ เพราะวันนี้เปรียบเทียบราคาของสื่อเก่าสื่อใหม่ยังห่างกันเยอะ มีช่องว่างให้เล่น อีกทั้งต้องดูความต้องการของตลาดไม่ใช่จะขึ้นราคาได้ทันที

 

แม้วันนี้ช่องทีวีจะหายไป 7 ช่องและเหลือเพียง 15 ช่อง แต่ “อริยะ” มองว่า การแข่งขันยังดุเดือด เพราะครั้งนี้ไม่มีม. 44 มาช่วย คนที่เลือก “อยู่” ต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรให้ยืนอยู่ต่อไปให้ได้อีก 10 ปี ช่อง 3 เอง เลือกที่จะปิด 2 ช่อง (ช่อง 3 แฟมิลี่และช่อง 28 SD) เหลือเพียงช่อง 3 HD (ช่อง 33) เพราะประเมินแล้วว่า การแข่งขันต้องเดือดมากขึ้น และการเดินหน้าบนพื้นฐานของอุตสาหกรรมที่หดตัวลง การถือ 3 ช่องจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยง จึงเลือกที่จะเหลือช่องเดียวและทุ่มให้กับช่องนี้อย่างเต็มที่ พร้อมกับสร้างช่องทางใหม่

“คอนเทนต์ของช่อง 3 ในปัจจุบันถูกจริตคนเอเชีย และ CLMV บริษัทจึงได้เริ่มต่อยอดนำคอนเทนต์ละครช่อง 3 ออกไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลอื่นๆ เช่น Netflix และเพย์ทีวี ในประเทศเกาหลี เป็นต้น ซึ่งโอกาสการเติบโตของรายได้ในช่องทางต่างประเทศและดิจิทัลนับเป็นช่องทางรายได้ใหม่และดีขึ้น”

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3516 ระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2562