อุดรฯนำร่องรณรงค์ใส่ผ้าไทยหลังสภาสตรีฯผนึกพลังพช.มั่นใจดันรายได้ศก.ชุมชนโต

22 ต.ค. 2562 | 04:53 น.

อุดรธานีนำร่องรณรงค์ใส่ผ้าไทยหลังสภาสตรีฯผนึกพลังพช.  มั่นใจหากคนไทยทั้งประเทศพร้อมใจกันสวมใส่ผ้าไทยทุกวันช่วยส่งเสริมทอผ้าในชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ ลดปัญหาว่างงาน ลดปัญหาย้ายถิ่นฐาน ทั้งลดเหลื่อมล้ำในสังคม ถ้าใช้ผ้าไทย 30 ล้านคน ความต้องการใช้ถึง 300 ล้านเมตร/ปี มูลค่ากว่าปีละ 9 พันล้านบาท ดันเศรษฐกิจชุมชนโต

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชนเผยว่า  ภายหลังจากที่ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน  ในโครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย นั้น ล่าสุดทางจังหวัดอุดรธานีได้เป็นจังหวัดแรก ในโครงการนำร่อง โดยนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ ”โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” แล้ว 

อุดรฯนำร่องรณรงค์ใส่ผ้าไทยหลังสภาสตรีฯผนึกพลังพช.มั่นใจดันรายได้ศก.ชุมชนโต

โดยมี นางรชตพร  โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ฯ ที่ปรึกษาประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน และคณะกรรมการจากสภาสตรีแห่งชาติ ฯ  องค์กรสตรีในจังหวัดอุดรธานี อาทิ นางกอบแก้ว คงน้อย นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง จ.อุดรธานี  ดร. ประกายแก้ว รัตนะนาคะ นายกสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี แพทย์หญิงเฉลิมวรรณ ศศิประภา นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจหญิง และวิชาชีพแห่งประเทศไทย อุดรธานี 

นายหมวดตรี ดร. ยงฤดี  พูลทรัพย์ นายกสมาคมสตรีอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี รศ. ดร.กฤตติกา แสนโภชน์  นายกสมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาติอุดรธานี    นายอิทธพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุดรธานี นำสตรีในองค์กรมาร่วมีงานและหัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยองค์กรสตรี ในจังหวัดอุดรธานี จากอำเภอต่างๆ  จำนวน 250 คน มาร่วมเป็นสักขีพยานด้วย  อีกทั้งมีการเสวนาเรื่องแนวทางส่งเสริมการใส่ผ้าไทยให้เป็นชีวิตประจำวัน 

"ถือว่าสตรีไทยโชคดีกว่าสตรีใดในโลก เพราะเรามีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ที่ทรงฟื้นฟูผ้าไทยให้สตรีไทยได้มีอาชีพเสริมจากการทำไร่ ทำนา จนในปัจจุบันพัฒนาเป็นอาชีพหลัก สตรีกว่า 90%ในชนบทมีอาชีพทอผ้า อาชีพทอผ้าปัจจุบันมีรายได้ดูแลครอบครัว ส่งเสียบุตรหลานให้มีการศึกษา  หากคนไทยทั้งประเทศพร้อมใจกันสวมใส่ผ้าไทยในทุกวันทั้งประเทศ จะช่วยเป็นการส่งเสริมการทอผ้าในชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ ลดปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ถ้าคนไทยร่วมมือร่วมใจกันใส่ผ้าไทย เพียง 30 ล้านคน จะมีความต้องการใช้ผ้าไทยถึง 300 ล้านเมตร/ปี เฉลี่ยราคาเมตรละ 300 บาทจะมีมูลค่ากว่าปีละ 9,000 ล้านบาท"ดร.วันดี กล่าว

อุดรฯนำร่องรณรงค์ใส่ผ้าไทยหลังสภาสตรีฯผนึกพลังพช.มั่นใจดันรายได้ศก.ชุมชนโต

ด้านนางประดิษฐ์  ครูทอผ้า กล่าวว่า ตนมีการศึกษาระดับ ป.4 เรียนรู้การทอผ้าจากภูมิปัญญาของพ่อแม่ มีอาชีพทอผ้ามากว่า 30 ปี ตั้งแต่ขายได้ในราคาผืนละ 900 จนถึงปัจจุบันบางผืนมีราคาถึง100,000 บาท และยึดอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพหลัก รายได้จากการขายผ้าที่ทอได้ สามารถส่งเสียบุตรเรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี ยกระดับคุณภาพชีวิตในครอบครัว

ทั้งนี้ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการ จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า อุดรธานีเป็นเมืองแห่งการใช้ผ้าไทย ข้าราชการใส่ผ้าไทย 6 วัน/อาทิตย์ และมีการสนับสนุนให้ประชาชนร่วมกันใส่ผ้าไทยตักบาตรในทุกวันพระอยู่แล้ว  และโครงการเป็นที่น่าสนใจจึงเข้าร่วมกับโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ร่วมกันระหว่างสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งมีองค์กรสมาชิก จำนวน  212 องค์กร กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ  กับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย 

อุดรฯนำร่องรณรงค์ใส่ผ้าไทยหลังสภาสตรีฯผนึกพลังพช.มั่นใจดันรายได้ศก.ชุมชนโต

เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเน้นอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติ  ให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ให้ชาวโลกได้ชื่นชม อีกทั้งเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยแก่ประชาชนทั่วไปทั่วประเทศ และยังสนับสนุนส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่นสภาสตรีแห่งชาติฯจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นมา  เป็นการรณรงค์ให้คนไทยทั้งประเทศร่วมมือร่วมใจกันใส่ผ้าทอไทย ไม่ว่าจะเป็นผ้าฝ้าย ผ้าไหม เพื่อช่วยกันสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน รักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น

ซึ่งการสวมใส่ผ้าทอไทยทุกผืน ก่อให้เกิดรายได้กระจายไปยังชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสตรีกว่า 90% รายได้ที่เกิดจากการทอผ้าออกจำหน่ายจะสามารถช่วยสตรียกระดับคุณภาพชีวิต ส่งบุตรหลานให้มีโอกาสเล่าเรียน ดูแลครอบครัวได้เมื่อยามเจ็บป่วย สร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง