คุมเข้ม 3 แสนบัตรสีชมพู แจ้งเท็จร่วมวงประกันยาง

25 ต.ค. 2562 | 06:55 น.

 

บอร์ดกยท. สั่งคุมเข้มเกษตรกรบัตรสีชมพูร่วมประกันรายได้ยางเป็นครั้งแรก 3 แสนราย ผวาแจ้งเท็จพื้นที่ปลูก ชนิดยางขอชดเชยรายได้ วงในเผยประกันรายได้ระยะที่ 1 พื้นที่รวมกว่า 17 ล้านไร่ ผลผลิตกว่า 3.44 แสนตัน นัดเคาะราคา 31 ต.ค.นี้

คณะรัฐมนตรี (ครม.) (วันที่ 15 ต.ค. 62) ได้เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 โดยแบ่งเป็นเจ้าของสวน 1.4 ล้านราย และ คนกรีด 2.99 แสนราย รวมกว่า 1.7 ล้านราย พื้นที่สวนยางกว่า 17 ล้านไร่ โดยต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 แบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของ 60% และคนกรีดยาง 40% วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ (บอร์ด) การยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในครั้งนี้มีเกษตรกรที่ถือบัตรสีชมพู (ไม่มีเอกสารสิทธิ) เข้าร่วมกว่า 3 แสนราย มีพื้นที่เปิดกรีดยางแล้ว 3.8 ล้านไร่ เข้าร่วมโครงการด้วยเป็นครั้งแรก จึงได้สั่งการให้นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการ กยท. วางระบบการตรวจสอบให้รัดกุม มีกระบวนการในการตรวจสอบพื้นที่ และการประกันรายได้ยางพาราแต่ละชนิด ต้องมีมาตรการในการรับรองข้อมูลเพื่อป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

คุมเข้ม 3 แสนบัตรสีชมพู  แจ้งเท็จร่วมวงประกันยาง

                                             สุนันท์ นวลพรหมสกุล

“กยท.เห็นว่าโครงการดังกล่าวสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนยางในกรณีราคายางตกตํ่า และยังเป็นการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง และสอดคล้องกับข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) และไม่ทำให้กลไกตลาดถูกบิดเบือน”

 

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยาง กับ กยท.ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2562 เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ มีประมาณ 86% ของพื้นที่ทั้งหมด กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ (ยางแห้ง) 240 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี หรือ 20 กิโลกรัม(กก.) ต่อไร่ต่อเดือน รวมปริมาณผลผลิต 3.44 แสนตัน

ประกันรายได้ในยางพารา 3 ชนิด คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ประกันรายได้ที่ 60 บาทต่อกก. (ต้นทุนการผลิต 55.87 บาทต่อกก.) น้ำยางสด DRC 100% 57 บาทต่อกก. (ต้นทุน 53.34 บาทต่อกก.) และยางก้อนถ้วย DRC 50% 23 บาทต่อกก.(ต้นทุน 21.76 บาทต่อกก.) ทั้งนี้ต้นทุนการผลิตยางปี 2561 มาจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

 

สำหรับการคำนวณการจ่ายชดเชยรายได้ยางจะแบ่งจ่าย 3 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562 งวดที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-15 มกราคม 2563 และงวดที่ 3 ระหว่างวันที่ 1-15 มีนาคม 2563 องค์ประกอบ มีผู้ว่าการ กยท.เป็นประธานคณะทำงาน ร่วมด้วยสศก. กรมการค้าภายใน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทน กยท. คณะทำงานและเลขานุการ เมื่อเคาะราคาประกันยางแต่ละชนิดเพื่อชดเชยแล้ว จะนำราคามาคำนวณกับจำนวนไร่ (รายละไม่เกิน 25 ไร่) เพื่อจ่ายเงิน

นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการ กยท. กล่าวสั้นๆ ว่า คณะกรรมการจากผู้แทนหน่วยงานต่างๆ คาดจะประชุม เพื่อเคาะราคาประกันรายได้ให้เกษตกรชาวสวนยางประมาณวันที่ 31 ตุลาคมนี้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,516 วันที่ 24-26 ตุลาคม 2562

คุมเข้ม 3 แสนบัตรสีชมพู  แจ้งเท็จร่วมวงประกันยาง