70 ปี...ก้าวแรกของการ เขย่งก้าวกระโดดของจีน(จบ)

23 ต.ค. 2562 | 04:00 น.

 

จากผู้ตามที่ดี...สู่ผู้นำเศรษฐกิจยุคใหม่

ท่าน สี จิ้นผิง ก้าวขึ้นรับตำแหน่ง (2013-ปัจจุบัน) พร้อมกับสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนและเปราะบาง จีนในระยะแรกของผู้นำคนที่ 5 ประเมินว่าลู่วิ่งแข่งขันใหม่นี้ดูจะคดเคี้ยวและขรุขระมากขึ้น จึงต้องการลดความเร็วและปรับวิธีการแบบเดิม 

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจจากเดิมที่มุ่งเน้นการเติบโตในเชิงปริมาณไปสู่เชิงคุณภาพ โดยตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในดุลยภาพใหม่ที่ระดับ 6-7% ต่อปี จากเดิม 10% ต่อปีในยุคก่อน ควบคู่ไปกับการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เพิ่มสัดส่วนการพึ่งพากำลังภายใน โดยกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศ แทนการพึ่งพากำลังภายนอกจากภาคการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันก็ใช้บทบาทการลงทุนของภาครัฐเป็นตัวเสริม โดยมุ่งหวังให้ความมั่งคั่งที่กระจายตัวจากภาครัฐไปยังภาคเอกชนในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเคลื่อนตัวต่อไปสู่ภาคประชาชน

อย่างไรก็ดี จีนก็ยังคงเดินหน้าทำลายสถิติของเศรษฐกิจโลกอยู่ต่อไป อาทิ การเป็นแชมป์ประเทศผู้ส่งออก และแชมป์ชาติการค้าโลก พร้อมกับการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง แถมในปี 2016 จีดีพีของจีนเพิ่มขึ้นแตะหลัก 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 13.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2018 หรือเพิ่มขึ้น 460 เท่าตัวเมื่อเทียบกับเมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งประเทศ

ด้วยฐานเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้นมาก จีนจึงมีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงเทอมแรกของท่านสี จิ้นผิง (ปี 2013-2018) จีนมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกเฉลี่ยในอัตราสูงถึง 28.1% ต่อปี เทียบกับระดับ 15.9% ต่อปีในช่วง 3 ทศวรรษแรกหลังเปิดประเทศสู่โลกภายนอก

ในปี 2018 FDI ในจีนมีมูลค่า 138,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 2 ของโลก และสูงสุด ในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา 27 ปีต่อเนื่อง หากเทียบกับ FDI ในยุคแรกก็พบว่ามีการขยายตัวมากกว่า 150 เท่าตัวหรือเฉลี่ยราว 15.4% ต่อปี ทั้งนี้ นับแต่เปิดประเทศจนถึงสิ้นปี 2018 จีนรับจดทะเบียนกิจการต่างชาติจาก 200 ประเทศและเขตเศรษฐกิจจำนวนรวมมากกว่า 960,000 ราย และรองรับ FDI รวมกว่า 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

ผลจากความพยายามในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ภาคบริการนั้น ทำให้เราเห็นตัวเลขภาคบริการเพิ่มบทบาทในระบบเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบทบาทของกิจการต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในจีน ในปี 2018 กิจการต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนในกิจการภาคบริการมากกว่า 88.7% ของกิจการต่างชาติโดยรวมที่จดทะเบียนในจีน หรือจำนวนรวมเกือบ 54,000 ราย

นอกจากนี้ ในช่วงหลายปีหลัง รัฐบาลจีนก็ยังเดินหน้าประกาศนโยบายใหม่และผ่อนคลายกฎระเบียนด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อาทิ เส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเล (Belt and Road Initiative) เขตเสรีทางการค้า (Free Trade Zone) และเมดอินไชน่า 2025 (Made in China 2025) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเดิมด้วยเทคโนโลยีระดับสูง และผลักดัน 10 อุตสาหกรรมใหม่แห่งโลกอนาคต อาทิ ไบโอเทค วัสดุใหม่ พลังงานทดแทน ยานยนต์พลังงานรูปแบบใหม่ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ ส่งผลให้จีนเพิ่มระดับการพึ่งพาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงเข้มข้นมากขึ้นโดยลำดับ

การขยายตัวด้านการลงทุนในจีนดังกล่าวส่งผลให้การจ้างงานโดยรวมของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2018 จีนมีตัวเลขการจ้างงานราว 780 ล้านคน ในจำนวนนี้มากกว่า 56% เป็นการจ้างงานในชุมชนเมือง ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนในยุคแรกอย่างชัดเจน และมีลักษณะเป็นการจ้างงานเชิงคุณภาพในสัดส่วนที่สูงขึ้น ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่สะท้อนถึงการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของจีนอย่างเป็นรูปธรรม

เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นได้เนื่องจากปัจจัยหลายประการ หลายคนพูดถึงความต่อเนื่องในเชิงนโยบายของภาครัฐ ความสามารถของภาคเอกชน และอื่นๆ อีกปัจจัยหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ความเก่งกาจของชาวจีนที่ได้รับการเสริมสร้างขีดความสามารถอยู่เสมอ รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจัย ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการก้าวกระโดดด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคใหม่ของจีน ทั้งนี้ นับแต่ปี 2013 จำนวนนักวิจัยของจีนได้แซงหน้าของสหรัฐฯ และในปี 2018 จีนมีจำนวนนักวิจัยที่ทำงานเต็มเวลารวมเกือบ 4.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 6.2 เท่าของยุคแรกของการมีนักวิจัยในจีนเมื่อ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การสานต่อนโยบายและมาตรการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจังที่เริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่สมัยท่านหู จิ่นเทา อันส่งผลให้เอกชนจีนหันมาใส่ใจกับการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขการลงทุนในด้านนี้พุ่งขึ้นเฉียดหลัก 2 ล้านล้านหยวนในปีที่ผ่านมา การดำเนินการดังกล่าวนับเป็นกลไกสำคัญที่เปลี่ยนจีนจากสถานะของผู้ตามขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูงในปัจจุบัน

คำปรามาสที่ชาวต่างชาติมักพูดถึงการผลิตสินค้าของจีนว่าเก่งในเรื่อง การต่อยอดจากการลอกเลียนแบบ (Copy and Development) ได้กลายเป็นอดีตอย่างรวดเร็ว เมื่อกิจการของจีนใส่ใจกับการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) กันอย่างแพร่หลาย และเคลื่อนตัวเข้าสู่การวิจัยและนวัตกรรม (Research and Innovation) อย่างเป็นรูปธรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยที่รัฐบาลจีนในปัจจุบันดูจะยังไม่ผ่อนแรงในเรื่องนี้ ผมจึงเชื่อมั่นว่า ปรากฏการณ์ของการเกิดนวัตกรรมดังกล่าวจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

หากย้อนไปดูสถิติก็พบว่า จีนได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่ยื่นขอจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) อันดับ 1 ของโลกนับแต่ปี 2011 ทั้งนี้ ในปี 2018 จีนยื่นจดสิทธิบัตร (Patent) กว่า 4.3 ล้านใบคำขอ โดยในจำนวนนี้ เกือบ 2.5 ล้านใบคำขอได้รับอนุมัติ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 100 เท่าตัวเมื่อเทียบกับ จำนวนที่ได้รับอนุมัติเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน จีนได้ยื่นคำขอจดเครื่องหมายการค้า (Trademark) จำนวนถึง 7.4 ล้านใบ และได้รับลิขสิทธิ์ (Copyright) ราว 3.5 ล้านชิ้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราสังเกตเห็นกิจการชั้นนำของจีนแขวนป้ายโชว์ความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินทางปัญญาตามพื้นที่ห้องรับแขกของสำนักงานและโรงงานทั่วไปหมด นักธุรกิจและคนรุ่นใหม่ของจีนต่างให้ความสำคัญและพูดถึงการพัฒนา IP เพื่อการเติบโตในอนาคตกันอย่างดาษดื่น

70 ปี...ก้าวแรกของการ  เขย่งก้าวกระโดดของจีน(จบ)

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ จีนได้กลายเป็นพี่เบิ้มในเรื่องสิ่งประดิษฐ์ใหม่ในเวทีโลกในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง รถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า เรือดำนํ้า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ระบบ 5G โดรน ยานอวกาศและจานดาวเทียม รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่ต่อยอดอินเตอร์เน็ต (Internet Plus) อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) รถยนต์ไร้คนขับ และอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoTs)

นักท่องเที่ยวไทยในวันนี้นิยมไปสำรวจและหาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและสินค้าไฮเทคของจีนมากขึ้น แฟนคลับของสินค้าลอกเลียนแบบถูกแทนที่ด้วยสินค้าเทคโนโลยีและรูปโฉมนำสมัยของเสี่ยวมี่ (Xiao mi) ผู้คนต่างแวะเวียนไปชมโชว์รูมรถยนต์ไฟฟ้าแทนร้านขายของเด็กเล่น แม้กระทั่งในงานฉลองครบรอบ 70 ปีของจีนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนก็โชว์ให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพอันสูงยิ่งของเรือและเครื่องบินรบ รวมทั้งยุทโธปกรณ์การรบ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

การผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการลงทุนยังส่งผลให้อันดับความสะดวกในการประกอบธุรกิจในจีนก้าวกระโดดจากอันดับที่ 78 ในปี 2017 ขึ้นเป็นอันดับที่ 46 ในปี 2018 นอกจากนี้ ในปี 2019 จีนก็ยังเปิดตลาดทุนใหม่สำหรับกิจการนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Innovation Board) หรือที่เรียกกันว่า ตลาด STAR ที่นครเซี่ยงไฮ้ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว และผ่านร่างกฎหมาย FDI ฉบับใหม่ที่มุ่งพัฒนาให้ตลาดมีเสถียรภาพ โปร่งใส คาดการณ์ได้ และยุติธรรม ซึ่งนั่นหมายถึงอันดับความสะดวกฯ ที่ดีขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน


 

การเติบใหญ่ในยุคดิจิทัล...ความท้าทายที่รออยู่

ตลอด 70 ปีที่ผ่านมาของการพัฒนาประเทศ จีนเริ่มต้นด้วยการก้าวเดินอย่างช้าๆ ภายหลังการเปิดประเทศครั้งใหม่ จีนขยับวิ่งด้วยความเร็วที่สูงขึ้นโดยลำดับ โดยดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องภายใต้ปัจจัยความพร้อมและเงื่อนไขเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ซึ่งอาจถือเป็นการปลดล็อกการปิดล้อมทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม จนนำไปสู่ความสำเร็จในการเพิ่มบทบาทของจีนในเวทีเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็วชนิดที่ทำให้โลกตื่นตะลึง

ในยุคต่อมา จีนได้ใช้พลังขาอันแข็งแกร่งและร่างกายที่สมดุล ก้าวกระโดดพุ่งทะยานออกไปข้างหน้าอย่างที่ไม่มีนักกีฬาชาติใดในโลกเคยทำได้มาก่อน แต่นี่เป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น จีนยังจะมีโควต้าการกระโดดต่ออีกหลายก้าวก่อนกระโดดไกล การประกาศดำเนินนโยบาย BRI อาจถือเป็นการปฏิเสธการปิดล้อมจีนของชาติตะวันตกอย่างเป็นรูปธรรม และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราเห็นความพยายามของชาติตะวันตกในการดำเนินนโยบายและมาตรการใหม่ผ่านสงครามการค้าและการปิดล้อมจีนในด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในระยะหลัง

ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ จีนจะแก้เกมเหล่านี้ได้ดีเพียงใด การสยายปีกทางเศรษฐกิจ และ ODI ของจีนจะดำเนินต่อไปอย่างไรในอนาคต การเสริมสร้างความภาคภูมิใจในชาติจะแรงมากพอที่จะยึดโยงหัวจิตหัวใจของภาคประชาชนให้เผชิญกับแรงเสียดทานที่เพิ่มขึ้นทุกขณะได้หรือไม่ บางท่านอาจแคลงใจอยู่ว่า แรงเสริมของโลกดิจิทัลและอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคตที่กำลังเติบใหญ่จะช่วยให้จีนกระโดดในช่วง 30 ปีข้างหน้าได้มากน้อยเพียงใด

การเขย่งก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจของจีนในครั้งนี้จึงนับว่ามีเดิมพันที่สูงยิ่ง และหากสามารถกระโดดข้ามการปิดล้อมครั้งใหม่นี้ได้ ผมก็เชื่อมั่นเหลือเกินว่า ท่านผู้อ่านจะได้เห็นหน้าใหม่ของอภิมหาอำนาจเศรษฐกิจโลก และการฉลอง 100 ปีของการก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ยิ่งใหญ่จารึกเป็นประวัติศาสตร์โลกอย่างแน่นอน 

 

โดย : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาด และอื่นๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3516 วันที่ 24-26 ตุลาคม 2562

70 ปี...ก้าวแรกของการ  เขย่งก้าวกระโดดของจีน(จบ)