B10 ปริมาณต้องพอใช้ คุณภาพต้องมาตรฐาน

21 ต.ค. 2562 | 09:15 น.

นายศาณินทร์  ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวในการสัมมนา “B10 ปฎิรูปน้ำมันบนดิน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” จัดโดยบริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป ประกอบด้วย ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ คมชัดลึก  และกระทรวงพลังงาน ณ ห้องรอยัลมณียา บอลรูม โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ วันที่ 21 ตุลาคม 2562 ตอนหนึ่งว่า  อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทยปีนี้คาดการณ์จะมีผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบ(ซีพีโอ) 3 ล้านกว่าตัน ไทยผลิตเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากอินโดนีเซียที่คาดปีนี้จะมีผลผลิต 40 กว่าล้านตัน และมาเลเซียคาด 20 กว่าล้านตันใหญ่กว่าไทยมาก แปลว่าไทยนั่งอยู่ข้างยักษ์ใหญ่ ที่เป็นผู้นำตลาดโลกในแง่ราคา ดีมานต์ และซัพพลาย 

ศาณินทร์  ตริยานนท์

สิ่งที่ไทยต้องทำคือจะตอบสนองความเคลื่อนไหวของตลาดโลกได้อย่างไร เพราะไทยอยู่ใกล้เขามากเหลือเกิน ตรงนี้เป็นหนึ่งในโจทย์สำคัญของประเทศไทย ซึ่งรัฐมนตรีพลังงานระบุน้ำมันดีเซลB10 เป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนของราคาปาล์มน้ำมันให้กับเกษตรกร

B10 ปริมาณต้องพอใช้ คุณภาพต้องมาตรฐาน

 

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน เริ่มจากสวนปาล์ม มีเกษตรกรอยู่หลายแสนครัวเรือน กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มโรงสกัดน้ำมันปาล์ม  ซึ่งน้ำมันปาล์ม 1 ทะลายน้ำหนัก 30-40 กิโลกรัม(กก.) ซึ่งปาล์มน้ำมัน 100 กิโลกรัม(กก.)บีบได้น้ำมันปาล์ม 17-20 กก.โดยประมาณ จากนั้นโรงงานผลิตไบโอดีเซลจะซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงสกัดเพื่อไปผลิตเป็นไบโอดีเซล 

ทั้งนี้เวลาผลิตไบโอดีเซลค่าไขมัน(โมโนกลีเซอไรด์) ถ้าสูงจะทำให้เป็นไขได้ง่าย ซึ่งมาตรฐานปัจจุบันต้องไม่เกิน 0.4% ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตต้องทำให้ได้ เพื่อไม่ให้ไขไปอุดตันไส้กรองใช้แล้วต้องไม่มีปัญหา

 

ส่วนที่ 2 ใครได้ประโยชน์ในเรื่องการทำ B100 ซึ่งแน่นอนว่าได้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ลดเงินตราการนำเข้าน้ำมันดีเซล และสุดท้ายคือเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากราคาปาล์มที่ดีขึ้น จากที่ผ่านมาภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศสูงมากอยู่ที่ 143% ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการใช้ในประเทศ ส่วนการส่งออกภาษี 0%  สิ่งที่เกิดขึ้นคือเวลาปาล์มล้นตลาดโลก ราคาปาล์มในประเทศตกตามดีมานต์-ซัพพลาย พอถึงจุดหนึ่งที่ราคาในประเทศต่ำกว่าตลาดโลก ประเทศไทยก็จะเริ่มส่งออก จนกระทั่งดีมานต์-ซัพพลายเริ่มสมดุล ราคาปาล์มในประเทศก็จะขยับขึ้น

 

เรื่องสต๊อกปาล์มเป็นหัวใจสำคัญ เมื่อไรสต๊อกมีความสมดุล  ราคาในประเทศจะสูงกว่าต่างประเทศนิด ๆ เพราะผู้ผลิตปลายน้ำต้องซื้อให้สูงกว่าราคาส่งออก ดังนั้นผู้ผลิตปลายน้ำ ผู้ผลิต B100 ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคต้องซื้อน้ำมันปาล์มดิบในราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกนิด ๆ เพื่อสร้างความสมดุล เพื่อช่วยให้เกษตรกร และทุกภาคส่วนอยู่ได้ ซึ่งเป็นความยาก

 

ส่วนการปรับเปลี่ยนการใช้น้ำมันดีเซลจาก B7 เป็น B10 ต้องเตรียมใน 2- 3 เรื่อง คือ 1. เรื่องคุณภาพใช้แล้วไม่มีปัญหา 2.เรื่องปริมาณ ตามเป้าหมายการใช้ 6.2 ล้านลิตรต่อวันผู้ประกอบการต้องมีกำลังผลิตมากพอ มีจุดเก็บน้ำมัน และมีรถขนส่งที่เพิ่มขึ้น และเรื่องนี้ทำอย่างไรจะมั่นคงขึ้นกับทุกฝ่ายจะช่วยกันขับเคลื่อน