คนท้อง ระวัง! รับสารกำจัดศัตรูพืช เสี่ยงถึงลูก

21 ต.ค. 2562 | 04:14 น.

ผลวิจัยชี้ผู้หญิงตั้งครรภ์รับสารกำจัดศัตรูพืชเสี่ยงไปถึงลูก  หนุนยกเลิก พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส
คนท้อง ระวัง! รับสารกำจัดศัตรูพืช เสี่ยงถึงลูก

     ถึงวันนี้มติที่ประชุม 4 ฝ่าย (รัฐ-ผู้นำเข้า-เกษตรกร-ผู้บริโภค) จะมีมติเป็นเอกฉันท์ยกระดับ 3 สารเคมีกำจัดศัตรูพืช “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” จากประเภทที่ 3 มาเป็นประเภทที่ 4 คือ ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครอง แล้วก็ตาม แต่อำนาจสั่งแบน 3 สารเคมีดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุป เพราะยังอยู่ที่ ‘คณะกรรมการวัตถุอันตราย’ ซึ่งจะมีการประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 22 ตุลาคมนี้

           

     ประเด็นสำคัญจากนี้คือข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์ ว่าทั้ง 3 สารเคมีนั้นมีอันตรายต่อมนุษย์จริง และจำเป็นถึงขนาดต้องมีการยกเลิกหรือไม่ และหากต้องยกเลิกจะมีสาร เคมีใดที่จะทดแทนในแง่ของประสิทธิภาพและราคาที่เกษตรกรรับได้บ้าง

           

     ท่ามกลางงานวิจัยต่างๆ ที่มีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง มีงานวิจัย “ความเข้มข้นของพาราควอตตกค้างในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศไทย” โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สะท้อนถึงปัญหาตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยเฉพาะในกลุ่มมารดาตั้งครรภ์ และมารดาที่กำลังให้นมบุตร

       

  คนท้อง ระวัง! รับสารกำจัดศัตรูพืช เสี่ยงถึงลูก

     งานดังกล่าวศึกษาความเข้มข้นของพาราควอตตกค้างในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศไทยซึ่งศึกษาหญิงตั้งครรภ์ที่ฝากครรภ์ใน 3 จังหวัด ได้แก่ จ.อำนาจเจริญ จ.นครสวรรค์ และ จ.กาญจนบุรี ระยะเวลา ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2554 ถึง มกราคม 2555 ซึ่งพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกร สามารถตรวจพบพาราควอตตกค้างในปัสสาวะถึง 81%  ส่วนหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตร สามารถตรวจพบพาราควอตตกค้างในปัสสาวะถึง 83%

           

     ขณะเดียวกัน พาราควอตและไกลโฟเซตยังสามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ โดยพบการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มทารกแรกเกิดและมารดาระหว่าง 17-20% พบไกลโฟเซต ระหว่าง 49-54% และพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีความเสี่ยงรับสารไกลโฟเซตมากกว่าคนทั่วไป 11.9 เท่าตามลำดับ และหากมีประวัติการขุดดินในพื้นที่เกษตร ยิ่งมีความเสี่ยงในการตรวจพบพาราควอต คิดเป็น 6 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่มีการขุดดิน และหญิงตั้งครรภ์ที่ทำงานในพื้นที่เกษตรกรรมช่วง 6-9 เดือนของการตั้งครรภ์ พบพาราควอตตกค้างมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ทำงานถึง 5.4 เท่าและตรวจพบพาราควอตในขี้เทาเด็กทารกแรกเกิดสูงถึง 55% จากมารดา 51 คน

           

      ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  ไม่ใช่แค่มารดาที่เป็นเกษตรกรที่มีความเสี่ยงเท่านั้น เพราะมีการพบสารพาราควอตในขี้เทาของทารกที่ไม่ได้มีมารดาเป็นเกษตรกร ซึ่งหมายความว่าไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ไหนๆ ก็มีโอกาสได้รับสารพิษเหล่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้เสมอ ทั้งในอากาศ ในน้ำ จนถึงในดิน หรือกระทั่งการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ที่ส่งตรงจากแหล่งผลิตในพื้นที่เกษตรจนถึงมือผู้บริโภค

           

      ขณะที่ผลการศึกษาของคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีผลกระทบด้านพัฒนาการทางสมอง ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของเกษตรกรยังพบว่า เกษตรกรได้รับคลอร์ไพริฟอสจากการหายใจสูงกว่าค่าระดับที่ปลอดภัยได้ และยังพบว่า มีคลอร์ไพริฟอสในขี้เทาทารกแรกเกิดร้อยละ 32.4 จากมารดา 68 คน และจากการเก็บตัวอย่างน้ำนมจากมารดา 51 คน มีคลอร์ไพริฟอสในน้ำนมมารดา 21 คน หรือร้อยละ 41.2 และมีทารกแรกเกิดได้รับเกินค่า ADI (Acceptable Daily Intake) สูงถึงร้อยละ 14.3

           

     “ไกลโฟเซต เป็นอีกหนึ่งสารปราบศัตรูพืชที่สามารถผ่านจากมารดาไปสู่ตัวอ่อนในครรภ์ได้ ซึ่งจากผลการวิเคราะห์พบการตกค้างในซีรั่มมารดา ร้อยละ 54 และซีรั่มทารกแรกเกิด ร้อยละ 49 และหญิงตั้งครรภ์ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรยังมีความเสี่ยงในการรับไกลโฟเซตสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพนี้สูงถึง 11.9 เท่า อีกทั้งหากไปทำงานในพื้นที่เกษตรก็จะมีโอกาสที่จะตรวจพบไกลโฟเซตในซีรั่มมารดาได้” ศ. ดร.พรพิมล กล่าว

           

      สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นภัยมืดที่เรามองไม่เห็นว่า หากมีการสัมผัสสารพวกนี้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ การอยู่ในพื้นที่ หรือการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อน ย่อมส่งผลให้เป็นโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคผิวหนัง  เหตุนี้สังคมไทยจึงกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านสารเคมีและมลพิษ ที่แม้แต่เด็กแรกเกิด จึงน่าจะต้องกลับมาทบทวน และปรับปรุงกลไกควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืช รวมถึงเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต การบริโภค เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อไป