สจล.ชงรัฐสร้าง “ทางจักรยานลอยฟ้าแห่งแรกของไทย”

20 ต.ค. 2562 | 07:46 น.

   ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ นายกสภาวิศวกร ชงรัฐสร้าง “ทางจักรยานลอยฟ้าแห่งแรกของไทย” หนุนสร้างสุขคนไทยสามารถขี่จักรยานได้อย่างปลอดภัย และได้สุขภาพ ผ่านการเลือกเส้นปั่นที่ปลอดภัย-เดินทางสะดวกสำหรับคนเมือง โดยเลือกตามแนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ เชื่อมจากกรุงเทพตะวันออก สนามบินสุวรรณภูมิ เข้าถึงใจกลางเมือง พญาไท (2)ติดตั้งโครงสร้างทางจักรยาน ด้วยการประกบโครงสร้างเหล็กที่มีน้ำหนักไม่มาก เข้ากับเสาตอม่อแอร์พอร์ตลิงค์ ที่มาพร้อมสามารถในการรองรับน้ำหนักรถไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นเลนจักรยานปั่นไป-กลับ ในระยะทางที่มากกว่า 20 กม. พร้อมมีทางลาดลงตามจุดต่างๆ

      เนื่องจากที่ผ่านมา การเดินทางสัญจรด้วย “รถจักรยาน” ในกรุงเทพมหานคร เต็มไปด้วยข้อจำกัดจำนวนมาก ทั้ง (1) ไม่มีทางจักรยาน ที่ปลอดภัยืจึงทำให้ประชาชนจำเป็นต้องขี่บนถนน ที่มาพร้อมความเสี่ยงสูงในการถูกรถยนต์เฉี่ยวชน หรือรถจักรยานยนต์เบียด ซึ่งที่ผ่านมา มีกรณีที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ เลือกเดินทางด้วยจักรยาน แต่กลับประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตบนถนนประเทศไทย จากการถูกเฉี่ยวชน (2.)สภาพอากาศไม่เอื้อต่อการปั่นจากปัญหาการวางผังเมืองของกรุงเทพฯ เป็นผลให้ไม่มีต้นไม้ใหญ่คอยให้ร่มเงา ซึ่งก่อให้เกิดอุณหภูมิที่สูงขึ้นทั่วบริเวณ และ (3.) ต้องเผชิญฝุ่น PM2.5 และ ก๊าซพิษอื่นๆ เพราะมลพิษทางอากาศที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้ง PM 2.5 และ ก๊าซอันตรายจากปัญหารถติดเป็นเวลานาน

 

สจล.ชงรัฐสร้าง “ทางจักรยานลอยฟ้าแห่งแรกของไทย”

    ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงขอเสนอรัฐ ทบทวนและพิจารณาจัดสร้าง “ทางจักรยานลอยฟ้า” ซึ่งสามารถทำได้โดย (1.)เลือกเส้นปั่นที่ปลอดภัย-เดินทางสะดวกสำหรับคนเมืองโดยเลือกตามแนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ เชื่อมจากกรุงเทพตะวันออก สนามบินสุวรรณภูมิ เข้าถึงใจกลางเมือง พญาไท (2.)ติดตั้งโครงสร้างทางจักรยาน ด้วยการประกบโครงสร้างเหล็กที่มีน้ำหนักไม่มาก เข้ากับเสาตอม่อแอร์พอร์ตลิงค์ ที่มาพร้อมสามารถในการรองรับน้ำหนักรถไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นเลนจักรยานปั่นไป-กลับ ในระยะทางที่มากกว่า 20 กิโลเมตร พร้อมมีทางลาดลงตามจุดต่างๆ นับตั้งแต่สถานีลาดกระบัง ทับช้าง พระรามเก้า หัวหมาก คลองตัน รามคำแหง เพชรบุรี มักกะสัน ราชปรารภ พญาไท

    ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงผลลัพธ์ของการจัดสร้างทางจักรยานลอยฟ้า จะพบได้ว่า คนกรุงเทพฯ สามารถขี่จักรยานในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงได้อย่างปลอดภัย เพราะมีโครงสร้างแอร์พอร์ตลิงค์ด้านบน เปรียบเหมือนร่มบังแดดด้านบน สามารถใช้จักรยานในการเดินทางจากบ้าน/คอนโด ไปยังออฟฟิศในเมืองได้โดยสะดวก เพราะมีที่จอด ที่ล็อคจักรยาน รวมถึงมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ในการดูแลและอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ ยังสามารถขี่ออกกำลังกาย จากใจกลางกรุงเทพไปยังเลนจักรยานรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ได้อย่างปลอดภัย

   อย่างไรก็ดี การเดินทางด้วยจักรยาน ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ภาครัฐ ควรให้ความสนใจและสนับสนุนเป็นอย่างมาก ควบคู่ไปกับการมีนโยบายในการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับวัฒนธรรมการปั่นจักรยาน อาทิ โซนล็อคจักรยานตามสถานที่ราชการ หรือสวนสาธารณะที่เพิ่มมากขึ้น ฯลฯ เนื่องด้วย “จักรยาน” นับเป็นยานพาหนะทางเลือก ที่นอกจากจะช่วยลดการเกิดมลพิษทางอากาศแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่ผู้ขับขี่อีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าพลเมืองในหลายมหานครทั่วโลก อาทิ เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมืองปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสิงคโปร์ รวมถึงเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก นิยมใช้ “จักรยาน” ในการเดินทาง/สัญจรไปยังสถานที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน