อาเซียนซัมมิท ภูมิคุ้มกันเทรดวอร์

19 ต.ค. 2562 | 07:02 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3515 หน้า 6 ระหว่างว้นที่ 20-23 ต.ค.2563

 

อาเซียนซัมมิท

ภูมิคุ้มกันเทรดวอร์

 

     วันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2562 ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนปี 2562 จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียนซัมมิท) ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดอาเซียนกับคู่เจรจาในหลายเวที ซึ่งไฮไลต์ด้านเศรษฐกิจในช่วงการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งนี้จะเป็นการประชุมครั้งใหญ่ที่สุดของไทยในฐานะประธานอาเซียนปี 2562 ก่อนส่งไม้ต่อให้เวียดนามที่จะเป็นประธานอาเซียนในปี 2563 โดยผู้นำอาเซียนจะได้รับทราบความก้าวหน้าและความสำเร็จ รวมทั้งความพยายามผลักดันในประเด็นต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการรวมตัวกันของประชาคมอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา

     ส่วนด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมจะรับทราบความคืบหน้าประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดันให้อาเซียนร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2562 ใน 3 ด้านรวม 13 ประเด็น อาทิ การสรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) การจัดทำแผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัล และการจัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ ผู้ประกอบการวิชาชีพเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นต้น

     ขณะที่เวทีรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะมีพิธีลงนามเอกสาร 2 ฉบับที่สามารถเจรจาได้ข้อสรุปแล้ว ได้แก่ 1. ความตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบ และรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้รับความสะดวกในการค้าขายภายในอาเซียนมากขึ้น 2. พิธีสารว่าด้วยการระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับปรับปรุง แทนฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2547 ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

     อีกเวทีสำคัญ คือ วันที่ 1 พฤศจิกายน จะมีการประชุมเตรียมการรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) 16 ประเทศ (อาเซียน 10 + จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) เพื่อตัดสินใจว่าจะมีการส่งเรื่องให้ผู้นำอาร์เซ็ปประกาศความสำเร็จของการสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปีนี้ ตามเป้าหมายผู้นำหรือไม่ หากสามารถตกกันได้จะแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการรวมตัวทางการค้าเสรีแบบพหุภาคีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและเป็นภูมิคุ้มกันระบบการค้าเสรีของโลกที่กำลังถูกสั่นคลอนจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ช่วยให้ประเทศสมาชิกได้ประโยชน์ทั้งด้านการค้าการลงทุนที่สามารถเข้าถึงตลาดของกันและกัน เกิดการจัดสรรการผลิตและการลงทุนในภูมิภาคครั้งใหญ่