ดึง5พันล้านปั้น พลังงานชุมชน

20 ต.ค. 2562 | 23:35 น.

 

“สนธิรัตน์” เดินหน้า Energy For All ปั้นโมเดลพลังงานชุมชน ชู 6 รูปแบบด้านพลังงานความร้อน ทดแทนแอลพีจีและนํ้ามัน โรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ดึงเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ 5 พันล้านบาท ขับเคลื่อน 1.3 พันแห่ง

นโยบายพลังงานเพื่อทุกคน หรือ Energy For All ที่นอกเหนือจากการส่งเสริมตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน  ของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว ยังมีการผลักดันให้เกิดพลังงานชุมชน ที่มีขนาดเล็กลงมาในพื้นที่ห่างไกล สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลชุดนี้คือ “พลังงานเพื่อทุกคน พลังงานเพื่อชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก”

ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์ ได้ตั้งทีมงาน เพื่อที่จะผลักดันพลังงานชุมชนขึ้นมาแล้ว และได้มีการหารือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้ข้อสรุปเบื้องต้นที่จะส่งเสริมพลังงานชุมชน มีเป้าหมาย 1.3 พันชุมชน ภายในปี 2567 ใน 6 รูปแบบ ทั้งการผลิตความร้อน และผลิตไฟฟ้าโดยจะนำเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่จะจัดสรรให้ปีละ 10% หรือราวปีละ 1 พันล้านบาท ตามกรอบการจัดสรรเงินงบประมาณ 5 ปี (2563-2567) ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา มาใช้ในการขับเคลื่อน

 

6โมเดลถึงมือ“สนธิรัตน์”

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวทางการส่งเสริมพลังงานชุมชนเบื้องต้นได้ส่งถึงมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว ซึ่งจะมีการสรุปผลในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ จากแนวทางการดำเนินงาน 6 รูปแบบ แบ่งเป็นการส่งเสริมในรูปแบบพลังงานความร้อน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.การใช้ชีวมวลผลิตเป็นก๊าซ นำไปทดแทนก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี ใช้เป็นพลังงานความร้อนสำหรับครัวเรือนและวิสาหกิจชุมชน ช่วยประหยัดการให้แอลพีจีได้ราว 65% โดยรัฐจะให้การสนับสนุน 80% และประชาชนออกเอง 20%

2.การใช้ชีวมวลผลิตเป็นก๊าซ ไปทดแทนนํ้ามันเบนซินและดีเซล เพื่อใช้สูบนํ้าทางการเกษตร ช่วยประหยัดนํ้ามันสูบนํ้าได้ราว 80% โดยรัฐสนับสนุนเงินทุน 80% และประชาชนออกเอง 20% และ 3.การใช้ชีวมวลผลิตเป็นก๊าซ นำไปทำพลังงานความร้อนเสริมระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรได้ 50% โดยให้ภาครัฐสนับสนุนเงิน 70% และประชาชนออกเอง 30%

ดึง5พันล้านปั้น  พลังงานชุมชน
 

เป้าผลิตไฟฟ้า300แห่ง

ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจะมี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.การผลิตไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กมาก สำหรับพื้นที่ชุมชนที่มีศักยภาพเข้มแข็ง ขนาดกำลังการผลิต 50-100 กิโลวัตต์ต่อแห่ง จากชีวมวล ชีวภาพ ขยะ แสงอาทิตย์และพลังงานนํ้า มีเป้าหมาย 100 แห่ง ภายในปี 2567 ใช้เงินลงทุน 5-15 ล้านบาทมีเป้าหมาย 100 แห่ง เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง หากเหลือขายเข้าระบบในอัตราค่าไฟฟ้า FiT +1 บาทต่อหน่วย จะสามารถคืนทุนได้ภายใน 7 ปี โดยที่รัฐจะสนับสนุนเงินลงทุนให้ทั้งหมด เมื่อชุมชนมีรายได้จากการคืนทุนแล้ว หลังจากนั้นให้นำเงินส่งคืนกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ เพื่อนำไปขยายผลในชุมชนต่างๆ

2.การผลิตไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กมาก สำหรับพื้นที่ชุมชนด้อยโอกาสบนพื้นที่สูง ชายขอบ ที่ไม่มีไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิต 30-100 กิโลวัตต์ต่อแห่ง จากเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทั้งชีวมวล ลม แสงอาทิตย์และพลังงานนํ้า เงินลงทุน 5-10 ล้านบาทต่อแห่ง มีเป้าหมายดำเนินงาน 100 แห่ง รัฐลงทุนให้ทั้งหมด และ 3.การผลิตไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กมาก สำหรับพื้นที่ชุมชนที่อยู่นอกเขตบริการไฟฟ้า และชุมชนบนเกาะที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ขนาดกำลังผลิต 30-100 กิโลวัตต์ต่อแห่ง ใช้ทรัพยากรจากฐานชีวภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ชีวมวล ลม แสงอาทิตย์และขยะ เงินลงทุน 5-10 ล้านบาทต่อแห่ง มีเป้าหมาย 100 แห่ง รัฐลงทุนให้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดหาไฟฟ้า การบริการ เพื่อลดความเหลื่อมลํ้า และสร้างความเท่าทียม ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มด้อยโอกาสด้านพลังงานอยู่ราว 5 หมื่นครัวเรือนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ 

 

แก้เงื่อนไขใช้เงินกองทุนฯ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการส่งเสริมฯได้กำหนดกรอบ ที่จะนำเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ มาสนับสนุนในช่วง 5 ปี ราว 5 พันล้านบาท หรือประมาณปีละ 10% จากกรอบวงเงินที่อนุมัติการจัดสรรไปแล้ว 5 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2563-2567

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการส่งเสริมพลังงานชุมชน จะเกิดได้หรือไม่ได้นั้น ส่วนหนึ่งจะต้องมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ ในข้อกำหนด หรือเงื่อนไขวิธีการขอจัดสรรขอเงินช่วยเหลือ หรือขอเงินอุดหนุนจากกองทุนอนุรักษ์ขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะเงื่อนไขสำหรับการทำข้อเสนอโครงการ ที่ปิดให้ลงทะเบียนไปเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ประกาศไปเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 จะต้องแก้ไขใหม่ รวมถึงการเปิดให้ชุมชนหรือองค์กรที่ชุมชนมอบหมาย สามารถเข้ามายื่นขอเสนอโครงการได้ โดยไม่ต้องผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือสถาบันการศึกษา เป็นต้น

ทั้งนี้ คาดว่าคณะอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมา 4 คณะฯ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการกองทุนฯ 2.คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนฯ 3.คณะอนุกรรมการฯประเมินผลโครงการภายใต้กองทุนฯ และ4.คณะอนุกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) จะมาพิจารณาแก้ไข เพื่อให้ได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,515 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ดึง5พันล้านปั้น  พลังงานชุมชน