ได้เวลา 'ประยุทธ์' โชว์ ปิดดีลอาร์เซ็ป

18 ต.ค. 2562 | 12:30 น.

คอลัมน์อยู่บนภู ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ  3515 หน้า 6 ระหว่างวันที่  20-23 ต.ค.2562 โดย... กระบี่เดียวดาย

 

ได้เวลา 'ประยุทธ์' โชว์

ปิดดีลอาร์เซ็ป

 

     วันที่ 31 ตุลาคม-4 พฤศจิกายนนี้ ประเทศไทยจะถูกสปอตไลต์ฉายจับอีกครั้ง โลกจะเหลียวมองมาที่ประเทศไทยในวาระ 4-5 วันนี้ ถ้าไม่ผิดพลาดสุดวิสัยเกินไป ผู้นำสำคัญของโลก โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ชินโซะ อาเบะ ผู้นำญี่ปุ่น นเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย มีกำหนดนัดหมายมาพบปะหารือจับเข่าคุยกันที่ประเทศไทย

     ห้วงเวลาอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้ จึงเป็นห้วงเวลาสำคัญในการเตรียมความพร้อมต้อนรับผู้นำระดับสูง มหาอำนาจประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกเดินทางมากระทบไหล่กันในไทย ที่คนไทยต้องร่วมไม้ร่วมมือรังสรรค์งานการเป็นเจ้าภาพที่ดีให้เกิดขึ้นให้ได้

     ก่อนที่จะมีการประชุมระดับผู้นำ เขาจะมีการประชุมไล่ไปตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของอาเซียนก่อนส่วนใหญ่มีปลัดกระทรวงเป็นหัวหน้าคณะ ถ้าเป็นด้านเศรษฐกิจเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ของไทยเป็นประธาน ถ้าเป็นด้านอื่นจะเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากนั้นเป็นการเปิดวงของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ วงประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศ วงประชุมความมั่นคงภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก : เออาร์เอฟ  

     หลังประชุมรัฐมนตรีกันเสร็จเรียบร้อย ก็ถึงคราวรัฐมนตรีชงเรื่องที่ได้ตกลงกันแล้วจากการประชุมหรือเรื่องคั่งค้างที่เป็นเรื่องใหญ่ๆต้องการพลังส่งไปให้ระดับผู้นำตัดสินใจในขั้นสุดท้ายอีกครั้ง

     การประชุมรอบนี้ในกรอบอาเซียนเป็นเรื่องติดตามความก้าวหน้าของความร่วมมือแต่ละเรื่อง ทางรัฐมนตรีเศรษฐกิจจะเซ็นความตกลงยอมรับ (MRA) ผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกในการค้าขายภายในอาเซียนมากขึ้น และเซ็นความตกลงระงับข้อพิพาทที่ปรับปรุงใหม่ในคราวนี้ด้วย

     ไฮไลต์ของการประชุมรอบนี้และน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ คือ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียน+6 เพื่อตัดสินใจกันในขั้นสุดท้ายในการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน+6 หรือเขตการค้าเสรี ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อันประกอบไปด้วยอาเซียน 10 ประเทศ บวกกับคู่เจรจา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  

     ความตกลง (RCEP) มีความสำคัญมาก หลังภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนและมีความเสี่ยงถดถอยในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าอันสืบเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจใหญ่ที่ส่งผลสั่นสะเทือนไปทั้งโลก

     ที่ว่าสำคัญเพราะข้อตกลงของ 16 ประเทศนี้มีประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน เกือบครึ่งของประชากรโลก มีจีดีพี 27.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 32.2% ของโลก มีมูลค่าการค้ารวมกัน 11.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 29.3% ของโลก

     ถ้าเขตการค้าเสรีนี้เกิดขึ้นก็จะเป็นเขตการค้าเสรีใหญ่อันดับ 1 ของโลก ประเทศไทยเองจะมีหลังพิง มีทางออกในการบรรเทาปัญหาการส่งออกที่ชะลอตัว เพราะข้อตกลงจะนำไปสู่การปลดล็อกอุปสรรคทางการค้าได้หลายประการ ไม่ใช่กำแพงภาษีเพียงอย่างเดียวที่แต่ละประเทศต้องลดลง แต่จะเกิดขึ้นในแง่การอำนวยความสะดวกทางการค้า การเชื่อมโยงฐานผลิตเข้าด้วยกัน เป็นห่วงโซ่การผลิตซัพพลายเชนที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน

     การเจรจา RCEP ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2557 ถึงขณะนี้เหลือ 6 ข้อบทที่ต้องหาข้อสรุป ได้แก่ การเยียวยาทางการค้า การแข่งขัน การค้าบริการ กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การลงทุน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

     จะว่าหนักก็ไม่หนักมาก แต่ก็ไม่เบาเสียทีเดียวหากดูจากข้อคั่งค้างที่เหลืออยู่

     งานนี้ต้องใช้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมต.พาณิชย์ที่เป็นประธานรัฐมนตรี RCEPเจรจา พูดคุยเพื่อให้อุปสรรคเหลือน้อยที่สุด

     สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งในฐานะประธานอาเซียน ประธาน RCEP ล็อบบี้ในระดับผู้นำขั้นสุดท้าย ออกแถลงการณ์ประกาศความสำเร็จปิดดีลการเจรจากรอบเขตการค้าเสรี RECP ให้ได้    

     “ได้เวลาประยุทธ์โชว์ ความเป็นผู้นำ โชว์ความเป็นสากลแล้ว”

     ที่สำคัญหากทรัมป์มาก็ต้องเตรียมการบาลานซ์นํ้าหนัก ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ไทย-สหรัฐฯไว้ด้วย หลังจากนํ้าหนักค่อนข้างเทไปทางจีนอย่างมากในระยะหลัง

     แน่นอนสหรัฐเองก็ต้องการเกาะเกี่ยวอาเซียนไว้ ไม่ให้จีนมีอิทธิพลสูงเกินไปในย่านนี้

     รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จำต้องเดินให้ดี จัดลำดับความสัมพันธ์ จัดลำดับความสำคัญให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ เจ็บตัวให้น้อยที่สุด !!!