เฟซบุ๊กติดอาวุธสกัด Fake News ชี้สูงวัยเสี่ยงแชร์ไม่รู้ตัว

19 ต.ค. 2562 | 08:50 น.

เฟซบุ๊ก ผนึก AFP เพิ่มฟีเจอร์ ลดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนแพลตฟอร์ม ตั้งเป้าสร้างมาตรฐานชุมชนคุณภาพ พร้อมแนะ 10 วิธีเช็กก่อนแชร์ ระบุกลุ่มผู้สูงวัยมีแนวโน้มแชร์ข่าวปลอมสูง

นายอันจาลี คาปูร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรข่าวประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เฟซบุ๊ก กล่าวว่า เฟซบุ๊กได้มีการประกาศเปิดตัวโปรแกรมการตรวจสอบข้อมูลเท็จโดยผู้ตรวจสอบที่เป็นองค์กรภายนอก (Third Party) ในประเทศไทย เพิ่มความโปร่งใสบนแพลตฟอร์ม ลดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ เพื่อพัฒนาคุณภาพของข่าวสารที่ผู้คนอ่านบนโลกออนไลน์และสร้างมาตรฐานชุมชน ด้วยการผนึกพันธมิตรกับ AFP ที่ผ่านการรับรองโดยเครือข่ายการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับนานาชาติ (International Fact Checking Network : IFCN) สำหรับในประเทศไทยนั้น AFP จะตรวจสอบและประเมินความถูกต้องของเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก รวมถึงรูปภาพและวิดีโอ ซึ่งหากพบว่าเนื้อหาที่ปรากฏบนแพลตฟอร์มเป็นข้อมูลเท็จก็จะมีการแสดงในหน้านิวส์ฟีดน้อยลง ปัจจุบัน AFP ได้ร่วมมือกับเฟซบุ๊กเพื่อตรวจสอบข้อมูลหรือเนื้อหาที่เป็นเท็จใน 20 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย

อย่างไรก็ตามเฟซบุ๊กมีขั้นตอนในการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย AFP จะเป็นผู้ประเมินความถูกต้องของเนื้อหาที่มีการรายงานจากผู้ใช้หรือเผยแพร่อยู่บนแพลตฟอร์ม จากนั้นจะแสดงเนื้อหาหรือข้อมูลเท็จในฟีดข่าวให้น้อยลง มีการแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งานว่าเป็นเนื้อหาของข่าวที่ไม่ถูกต้อง ให้ใช้วิจารณญาณก่อนที่จะกดแชร์ข่าวนั้น เพื่อช่วยลดโอกาสในการที่ข่าวเท็จจะถูกเผยแพร่ออกไปยังผู้ใช้จำนวนมาก สุดท้ายจะมีการดำเนินการกับเพจและเว็บไซต์ที่มีการแชร์หรือเผยแพร่ข่าวปลอมซ้ำๆ รวมถึงห้ามไม่ให้ใช้ฟีเจอร์สำหรับสร้างรายได้หรือการลงโฆษณา เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับชุมชน นอกจากนี้เฟซบุ๊กยังมีการจัดเวิร์กช็อปด้านการตระหนักรู้และการใช้สื่อ เพื่อสร้างแนวปฏิบัติที่ดี และทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรสื่อในภูมิภาค ปัจจุบันพันธมิตรฝ่ายข่าวที่ได้ร่วมมือกับเฟซบุ๊กกำลังขยายตัว ทั้งในภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ซึ่งเฟซบุ๊กจะมีการจัดแรง์กิ้ง รวมถึงมีการให้คะแนนฟีดข่าว

เฟซบุ๊กติดอาวุธสกัด Fake News ชี้สูงวัยเสี่ยงแชร์ไม่รู้ตัว

ด้านนายพีรพล อนุตรโสตถิ์ รักษาการผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่าปริมาณข้อมูลเท็จในโซเชียลเพิ่มมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็วเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของข่าวปลอมได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งข่าวปลอมส่วนใหญ่นั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น สุขภาพ อาหาร ยารักษาโรค ข้อมูลด้านการแพทย์ คำแนะนำต่างๆ รวมไปถึงเรื่องการเมือง การทำงานที่ผ่านมาทำให้สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับข้อมูลเท็จเรื่องนั้นๆ ได้มากขึ้น ทั้งนี้ในปัจจุบันเริ่มมีการตั้งคำถามมากขึ้น ผู้ใช้เริ่มมีการรายงานหรือตรวจสอบข้อมูลที่ไม่แน่ใจมากขึ้น อีกทั้งผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ากลุ่มคนสูงอายุเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการแชร์ข่าวปลอมมากที่สุด ขณะที่ในประเทศไทยเรื่องของการใช้ภาษาอาจจะเป็นอุปสรรคของเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่มาจากต่างประเทศ ก็จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

 

ด้านรศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจะเห็นว่าสังคมไทยนั้นผู้ใหญ่ยังอยู่ในยุคอนาล็อก ขณะที่เด็กรุ่นใหม่มีการรับข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมากขึ้น สำหรับพฤติกรรมในการแชร์ข่าวปลอมนั้นส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะมีการแชร์ข่าวปลอมโดยไม่รู้ตัว แต่ในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่อาจมีพฤติกรรมการแชร์ข้อมูลทั้งที่รู้ว่าเป็นข่าวปลอมหรือเรื่องไม่จริง ที่ผสมกับการสร้างวาทกรรมที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ปัจจุบันเราอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ ที่ทุกคนใช้งานกันหลายแพลตฟอร์ม ถึงแม้ว่าเฟซบุ๊กจะระบบเช็กข้อเท็จจริง ( Fact Checking) แต่บนแพลตฟอร์มอื่นก็ยังคงมีข่าวปลอมอยู่ ตรงนี้ควรที่จะมีความร่วมมือกันระหว่างแพลตฟอร์มเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มให้เกิดขึ้นด้วย

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3515 ระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2562