ประกาศความสำเร็จ อาร์เซ็ป ส่งท้ายอาเซียนซัมมิท

21 ต.ค. 2562 | 05:30 น.

 

สัมภาษณ์        

 

วันที่ 31 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2562 ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนปี 2562 จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดอาเซียน(อาเซียนซัมมิท) ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดอาเซียนกับคู่เจรจาในหลายเวที ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ไฮไลต์การประชุม และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้จะมีอะไรบ้างนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

เซ็นเอกสาร 2 ฉบับสำคัญ

นางอรมน เผยว่า ไฮไลต์สำคัญเริ่มจากช่วงเช้าวันที่ 31 ตุลาคม รัฐมนตรีเศรษฐกิจของอาเซียนจะมีพิธีลงนามเอกสาร 2 ฉบับที่สามารถเจรจาได้ข้อสรุปแล้ว ได้แก่ 1.ความตกลงยอมรับร่วม (MRA) ผลการตรวจสอบ และรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องได้รับความสะดวกในการค้าขายภายในอาเซียนมากขึ้น 2. พิธีสารว่าด้วยการระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับปรับปรุง แทนฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2547 ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ช่วงบ่ายวันที่ 31 ตุลาคมจะมีการประชุมเตรียมการคณะกรรมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Prep-RCEP TNC) ระดับเจ้าหน้าที่ 16 ประเทศ (อาเซียน 10 + จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์) ถัดมาวันที่ 1 พฤศจิกายน จะมีการประชุมเตรียมการรัฐมนตรีความตกลง RCEP (อาร์เซ็ป) เพื่อตัดสินใจว่าจะมีการส่งเรื่องให้ผู้นำ
อาร์เซ็ปประกาศความสำเร็จของการสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปีนี้ ตามเป้าหมายผู้นำหรือไม่ จากปัจจุบันการเจรจาอาร์เซ็ปที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 สามารถสรุปผลได้แล้ว 14 ข้อบท 3 ภาคผนวก ยังเหลืออีก 6 ข้อบทที่ต้องเจรจากันให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ได้แก่ บทการเยียวยาทางการค้า บทการแข่งขัน บทการค้าบริการ บทกฎถิ่นกำเนิดสินค้า บทการลงทุน และบทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

 

ประกาศความสำเร็จ อาร์เซ็ป  ส่งท้ายอาเซียนซัมมิท

                                  อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

“ผู้นำเจอกันครั้งนี้จะมีการออกแถลงการณ์ ซึ่งความตั้งใจก็คือผู้นำจะประกาศสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ป ดังนั้นรัฐมนตรีก็ต้องไปดูร่างแถลงการณ์ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะให้ผู้นำประกาศความสำเร็จว่าสามารถสรุปผลการเจรจาได้ตามเป้าหมาย”

 

 

หลากเวทีผู้นำพบคู่เจรจา

ส่วนวันที่ 2 พฤศจิกายน จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน(ระดับผู้นำ) โดยผู้นำจะได้รับทราบความก้าวหน้า และความสำเร็จในประเด็นต่างๆ เพื่อสนับสนุนการรวมตัวกันของอาเซียน และในด้านเศรษฐกิจจะได้รับทราบความคืบหน้าประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ไทยผลักดัน 3 ด้านใน 13 ประเด็น, วันที่ 3 พฤศจิกายนเป็นเวทีผู้นำอาเซียนพบภาคเอกชนจากสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก(จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) และในวันที่ 4 พฤศจิกายนผู้นำอาเซียนจะพบกับผู้นำจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้, ผู้นำอาเซียนพบกับผู้นำสหรัฐฯ(ยังไม่ยืนยันทรัมป์จะมาหรือไม่, ผู้นำอาเซียนพบผู้นำญี่ปุ่น ต่อด้วยการประชุมอีสต์เอเชีย
ซัมมิท(EAS) ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศและประเทศคู่เจรจา 8 ประเทศ(จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ และรัสเซีย) และต่อด้วยการประชุมผู้นำอาร์เซ็ป

 

ประกาศความสำเร็จ อาร์เซ็ป  ส่งท้ายอาเซียนซัมมิท

 

สหรัฐฯ-จีนแข่งดึงอาเซียน

“ในแต่ละเวทีของวันที่ 4 พฤศจิกายน ผู้นำจะพบกันเวทีละประมาณชั่วโมงครึ่ง ซึ่งในด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่คู่เจรจาจะมีเอฟทีเอกับไทยแล้ว(ยกเว้นสหรัฐฯและรัสเซีย) ก็จะคุยกันเรื่องเกี่ยวกับผลหรือความคืบหน้าการทำเอฟทีเอที่ผ่านมา บางครั้งอาจมีการประกาศเปิดเสรีเพิ่มเติม และจะคุยกันเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ”

 

ส่วนเวทีอาเซียน-สหรัฐฯที่ผ่านมา เนื่องจากสหรัฐฯเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญและมีศักยภาพในเรื่องการค้าดิจิทัล(Digital Trade) ส่วนใหญ่ก็จะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วย ซึ่งเวลานี้สหรัฐฯก็ช่วยอาเซียนอยู่ในเรื่อง ASEAN Single Window (การเชื่อมโยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว) ส่วนอาเซียน-จีนที่มีเอฟทีเอระหว่างกันมานานแล้วก็จะมาอัพเกรด เนื่องจากมีสินค้าบางรายการที่ยังไม่ได้ลดภาษีเป็น 0% รวมถึงการลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีระหว่างกัน เป็นต้น

“การประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งนี้ในส่วนของเสาหลักด้านเศรษฐกิจ คาดจะมีการประกาศแถลงการณ์ผู้นำเรื่องความสำเร็จของการเจรจาอาร์เซ็ป ส่วนเสาหลักด้านการเมืองและความมั่นคงจะมีแถลงการณ์เรื่องใดนั้นคงต้องรอกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นแม่งาน ซึ่งในช่วงคํ่าวันที่ 4 พฤศจิกายนท่านนายกรัฐมนตรีจะแถลงข่าว เพื่อสรุปผลการประชุมอีกครั้ง”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,515 วันที่ 20-23 ตุลาคม 2562

ประกาศความสำเร็จ อาร์เซ็ป  ส่งท้ายอาเซียนซัมมิท