TAS32 สะเทือนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ แสนล้าน

17 ต.ค. 2562 | 08:08 น.

PWC ชี้ มาตรฐานบัญชี TAS32 กระเทือนหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน 8 บริษัทใหญ่ มูลค่า 1.02 แสนล้าน ถูกแปลงเป็นหนี้ ดัน D/E พุ่ง กระทบต้นทุนเงินกู้แบงก์-ความเสี่ยงเครดิตเพิ่ม คาดสภาวิชาชีพบัญชีจ่อผ่อนปรนบริษัทที่ออก  Perpetual Bond 3 ปี ให้ทยอยปรับตัว

นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชี และหุ้นส่วนบริษัท PWC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมฐานเมนาประจำปี PWC Thailand’s Symposium 2019 ภายใต้หัวข้อ บริหารความท้าทายขององค์กรในทศวรรษใหม่อย่างมืออาชีพว่า จากมาตรฐานการบัญชีและหลักการทางบัญชีใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2563 ทั้งในส่วนของ TFRS9, TAS32 และ TFRIC23 จะมีผลกระทบต่อรายงานทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ หากดูมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 หรือ TAS32 ที่กำหนดการจัดประเภทตราสารหนี้สินและทุนให้มีรายละเอียดชัดเจนขึ้น โดยคาดว่าจะทำให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน (Perpetual Bond) ถูกจัดประเภทใหม่จากตราสารทุนเป็นหนี้สินในงบการเงินแทน โดย TAS32 ระบุว่า ถ้าชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตที่เหตุการณ์ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ทันที เมื่อมีผลขาดทุนสะสมจรทำให้ส่วนของทุนเหลือน้อยกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน จะต้องแสดงหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน เป็นหนี้สิน เว้นแต่มีการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เพราะกิจการได้ชำระบัญชีเพื่อกิจการ (Liquidation) ไม่ว่าโดยสมัครใจ หรือผลทางกฎหมายล้มละลาย ตราสารนั้นจะถูกจัดประเภทให้เป็นทุน

TAS32 สะเทือนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ แสนล้าน

อย่างไรก็ดี หากดูผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนิยามตาม TAS32 จะส่งผลต่ออัตราส่วนทางการเงิน โดยเฉพาะอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) จะเพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เนื่องจากบริษัทที่ใช้เงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ จะมีเงื่อนไขในสัญญากู้ยืมที่กำหนด D/E ไม่ควรเกินกี่เท่า แต่หลังจาก TAS32 มีผลบังคับใช้จะทำให้ D/E เปลี่ยนแปลง เช่น กรณีกู้เงิน 1 หมื่นล้านบาท ผ่อนชำระ 15 ปี แต่หลังจาก D/E ไม่เป็นไปตามสัญญาธนาคารพาณิชย์สามารถเรียกคืนหนี้ได้ทันที ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน และในที่สุดจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันหากดูบริษัทที่มีการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน หรือ Perpetual Bond ในไตรมาสที่ 2 มีทั้งหมด 8 บริษัท มูลค่า 1.02 แสนล้านบาท คิดเป็น 14% ของมูลค่าตลาดรวม (Market Capital) และในไตรมาสที่ 3 มูลค่าปรับลดลงมาเหลือ 7.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีการไถ่ถอนบ้างส่วน อย่างไรก็ดี บริษัทที่จะออก Perpetual Bond ใหม่ในปี 2563 จะเห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่ก็ยังคงออก แต่อาจจะต้องขึ้นอยู่กับธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องยอมทำตามเกณฑ์ใหม่ด้วย

TAS32 สะเทือนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ แสนล้าน

อย่างไรก็ดี แนวทางการแก้ไข จะมีอยู่ 2 วิธีหลัก คือ 1.ให้สภาวิชาชีพบัญชีผ่อนปรนเงื่อนไขการแปลงตราสารทุนเป็นหนี้สิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนปรนเป็นระยะเวลา 3 ปี ให้กับบริษัทที่ได้ออก Perpetual Bond ไปก่อนหน้านี้ ส่วนบริษัทที่จะออก Perpetual Bond รายใหม่จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานบัญชี TAS32 ทั้งนี้ คาดว่าการผ่อนปรนดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ หรืออย่างช้าภายในต้นสัปดาห์ของเดือนมกราคมปี 2563

ส่วนแนวทางที่ 2 คือ การแก้ไขเงื่อนไขที่มีปัญหาในสัญญา ซึ่งจะต้องได้รับการโหวตจากผู้ถือหุ้นมากกว่า 75% และต้องเสียค่าชดเชยในกรณีการเปลี่ยนแปลงสัญญาอยู่ที่ 0.05-0.1% หรือการไถ่ถอนแล้วออกหุ้นกู้ใหม่ทดแทน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง แต่จะใช้เวลาค่อนข้างนานราว 2-3 เดือน และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยจะต้องมีการจ้างที่ปรึกษา และยื่นไฟล์ลิ่ง รวมถึงมีภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งการออกหุ้นกู้ใหม่เฉลี่ย 1 หมื่นล้านบาท จะมีค่าใช้จ่ายราว 50 ล้านบาท ซึ่งกระทบต่อกำไร รวมถึงจะสร้างความผันผวนให้ตลาดหากบริษัทแห่ออกหุ้นกู้พร้อมกันในมูลค่าจำนวนสูง ตลอดจนในช่วงที่ออกหุ้นกู้ใหม่อาจไม่สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาด

ตอนนี้เข้าใจว่ามีการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ที่จะผ่อนปรนการเปลี่ยน Perpetual Bond จากทุนเป็นหนี้สินให้ 3 ปีให้กับบริษัทที่ออกก่อนหน้านี้ เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างกระทบมาก โดยเฉพาะ 8 บริษัทจะเห็นตัวเลข D/E เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้กระทบแต่ Perpetual Bond แต่ยังกระทบไปยังสัญญาเงินกู้อื่นๆ ที่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการกำหนดค่า D/E ส่วนคนจะออกใหม่ก็อาจจะชะลอไป เพราะต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคาร

TAS32 สะเทือนหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ แสนล้าน