สหรัฐฯ ‘เปิดศึก’ อียู สาดภาษีสนั่น 18 ต.ค.นี้

17 ต.ค. 2562 | 06:37 น.

สหรัฐอเมริกาเตรียมเข้าสู่การทำสงครามการค้ากับสหภาพยุโรป (อียู) เต็มตัวแล้วในวันศุกร์นี้ (18 ต.ค.) โดยจะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอียูในอัตราสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม รวมวงเงิน 7,500 ล้านดอลลาร์ หลังได้ไฟเขียวจากองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ที่ตัดสินเมื่อเร็วๆนี้ ให้สหรัฐฯสามารถตอบโต้อียูได้เพื่อชดเชยความเสียหายจากกรณีที่อียูให้การอุดหนุนทางการเงินแก่บริษัทแอร์บัส ผู้ผลิตอากาศยานชั้นแนวหน้าของยุโรป ทำให้อุตสาหกรรมของสหรัฐฯได้รับความสูญเสีย  

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พบกับนายฌอง-คล้อด ยุงเคอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและอียู จะเป็นตัวเร่งทำให้เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอยู่แล้วในปีนี้ สามารถเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession)ได้รวดเร็วขึ้น สถาบันวิจัยอินเตอร์เนชั่นแนล เทรด เซ็นเตอร์ (ไอทีซี) ในสหรัฐฯ ประเมินสถานการณ์ดังกล่าวว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่โลกจะ ‘พุ่งตรง’ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากสหรัฐฯและอียู ตัดสินใจเปิดศึกการค้า เนื่องจากการตอบโต้กันด้วยภาษีศุลกากรจะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายเป็นพิเศษแก่ผู้ผลิตสินค้าเกษตรตลอดจนผู้ประกอบการรายเล็กๆในภาคอุตสาหกรรม
 

สงครามภาษีจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่  

อารันชา กอนซาเรซ ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันไอทีซี ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ทำหน้าที่ส่งเสริมกิจกรรมการค้าในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้ว  ได้ออกมาเตือนว่า การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและอียูจะทำให้เศรษฐกิจโลกถอยหลังเข้าคลอง“นั่นหมายถึงการพุ่งตรงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” กอนซาเลซให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐฯ หลังการพบปะกับเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยมเมื่อเร็วๆนี้ เธอกล่าวว่า ทุกๆเหตุการณ์ชี้ไปสู่ทิศทางเดียวแล้ว หากทุกฝ่ายยังเดินหน้าทำในสิ่งที่ขู่กันไว้ จุดหมายข้างหน้าก็คือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่

 

การเก็บภาษีเพิ่มของสหรัฐฯจะเริ่มมีผลในวันศุกร์ที่ 18 ต.ค.นี้แล้ว ซึ่งท่าทีของอียูต่อเรื่องนี้แม้คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งดูแลนโยบายการค้าของอียู จะกล่าวย้ำว่ายินดีเจรจากับสหรัฐฯเพื่อระงับข้อขัดแย้งจะได้ไม่ต้องตั้งกำแพงภาษีใส่กัน แต่ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม อียูก็ได้เปิดเผยรายการสินค้าของสหรัฐฯออกมาแล้วว่า ในขั้นต้นจะมีสินค้าอเมริกันรายการใดบ้างที่จะถูกอียูเรียกเก็บภาษีเพิ่ม (วงเงิน 20,000 ล้านดอลลาร์) เป็นการตอบโต้หากสหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากอียูก่อน

สหรัฐฯ ‘เปิดศึก’ อียู สาดภาษีสนั่น 18 ต.ค.นี้

เดนนิส เชีย ทูตสหรัฐฯประจำองค์การการค้าโลก เคยให้ความเห็นว่า สหรัฐฯคาดหวังว่าการใช้มาตรการในเชิงลงโทษต่ออียูด้วยการเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้น จะทำให้อียูลด-เลิกการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมของตัวเองซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐฯ แต่นักวิเคราะห์ของไอทีซี กลับมีความเห็นต่างในเรื่องนี้ โดยระบุว่า จากสถิติที่ผ่านมา การขึ้นภาษีไม่สามารถแก้ไขถึงต้นเหตุของปัญหาการค้าระหว่างประเทศที่มีอยู่  จึงเสนอแนะว่า ทางออกที่ดีน่าจะเป็นการที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอากาศยาน มานั่งพูดคุยกันว่า ทำอย่างไรจึงจะแข็งแกร่งได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการอุดหนุนจากภาครัฐ และทำอย่างไรจึงจะสามารถแข่งขันได้อย่างยุติธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่

 

 

ความไม่แน่นอนที่เป็นผลพวงจากภาวะเผชิญหน้าทางการค้าจะส่งผลชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนจากตัวเลขคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ถูกปรับลดลงมาแล้ว และคาดว่าตัวเลขคาดการณ์จากองค์กรอื่นๆไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลกหรือองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ที่กำลังจะมีการประกาศออกมาก็คงจะมีทิศทางไม่ต่างกัน

 

เกษตรกร-เอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบมากที่สุด

นักเศรษฐศาสตร์ของไอทีซีเตือนว่า ผู้ผลิตและผู้ประกอบการรายเล็กจะได้รับผลกระทบจากสภาวะความไม่แน่นอนนี้มากกว่ารายใหญ่ๆ แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่าท่ามกลางบริบทของการค้าโลกในยุคใหม่ ทุกคนต้องมีความสามารถในการปรับตัวและประยุกต์ใช้แนวโน้มใหม่ๆที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติของสงครามการค้าย่อมมีแต่ผู้แพ้ ไม่มีใครชนะ ในตอนแรกคนที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ อาจจะเป็นผู้ผลิตชีสในอิตาลี ผู้ผลิตน้ำมันมะกอกในสเปน หรือผู้ผลิตไวน์ในหลายประเทศของยุโรป แต่สุดท้ายแล้วต่อไปผลกระทบก็จะตกมาถึงเกษตรกรผู้ปลูกแอปเปิ้ล ผู้ผลิตเสื้อเชิ้ต หรือผู้ผลิตน้ำส้มในสหรัฐอเมริกาด้วย  

สหรัฐฯ ‘เปิดศึก’ อียู สาดภาษีสนั่น 18 ต.ค.นี้

สำหรับสินค้าอียูที่จะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มในอัตราที่หลากหลายนั้น (มีตั้งแต่ 10% ไปจนถึง 25%) ส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มผลผลิตการเกษตร อาหาร และเครื่องดื่ม ถูกเก็บภาษีเพิ่ม 25% เช่น ชีส น้ำมันมะกอก ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกร ขนมปังกรอบ เหล้าวิสกี้

 

เป็นที่สังเกตว่าสินค้าหลายอย่างพุ่งเป้าไปที่ประเทศพันธมิตรร่วมผลิตเครื่องบินแอร์บัส คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน  ส่วนสินค้าที่ไม่ใช่อาหารได้แก่ เครื่องบิน (เจอเก็บภาษีเพิ่ม 10%)  หนังสือ เครื่องจักรกลก่อสร้าง เสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ฯลฯ