มาตามสัญญา! สถานีต่อไป 'ยางพารา'

16 ต.ค. 2562 | 07:00 น.

เกษตรกรผู้ปลูก “ปาล์ม-ข้าว”จ่ายรอบแรกไปแล้วอานิสงส์กว่า 6 แสนคน รัฐอุ้มชดเชยรายได้กว่าหมื่นล้าน เร่งเดินหน้าต่อตามสัญญา สถานีต่อไปจ่อคิวยางพารา งวดแรกวันที่ 1 พ.ย.-15 พ.ย.นี้ บิ๊ก กยท.ลั่นรับนโยบายเดินเกมรุกทันที สั่งตั้งคณะกรรมการราคาชดเชย คาดจะประชุมสิ้นเดือนนี้เคาะประกันรายได้รอบแรก

 

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับนโยบายประกันรายได้เกษตรกร การสร้างความร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศ และมาตรการเร่งรัดการส่งออก โดยเฉพาะนโยบายประกันรายได้ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่นโยบายประกันราคาพืชผล เพราะขัดกับองค์การการค้าโลกหรือดับบลิวทีโอ ทั้งนี้ นโยบายประกันรายได้เกษตรกร มีหลักสำคัญคือ ให้เกษตรกรมีรายได้ชดเชยจากราคาพืชผลที่ตกต่ำ ไม่สามารถขายพืชผลได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยจะได้รับเงินจากส่วนต่างของราคาตลาดกับราคาประกัน ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จ่ายให้

มาตามสัญญา! สถานีต่อไป 'ยางพารา'

เช่น ราคาข้าวตันละ 10,000 บาท แต่ราคาตลาด 8,000 บาทต่อตัน มีส่วนต่าง 2,000 บาท รัฐบาลก็จะจ่ายเงินค่าส่วนต่างนี้ให้กับเกษตรกรโดยส่งเงินเข้าบัญชีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ ธกส.โดยตรง ทั้งนี้ พืชผลทางการเกษตรที่รัฐบาลประกันมี 5 ชนิด คือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม และข้าวโพด สำหรับพืชผลการเกษตรอื่นๆ รัฐบาลจะดูแลเช่นกันโดยมาตรการอื่น ทั้งนี้ จะประกันรายได้เท่าไรในพืชแต่ละตัว จะมีการพูดคุยกันในคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับพืชเกษตรตัวนั้นก่อน

มาตามสัญญา! สถานีต่อไป 'ยางพารา'

ผ่านมาระยะเวลาร่วม 3 เดือน ได้มีสินค้าเกษตร 2 ตัว ที่ได้จ่ายรอบแรกไปแล้ว ก็คือ ปาล์มน้ำมัน และข้าว รวมเกษตรกรที่ได้รับการจ่ายเงินชดเชยให้กว่า 6 แสนราย ส่วนคิวต่อไป ที่รัฐจะดำเนินการจ่ายตรงให้นั้นก็คือ เกษตรกรชาวสวนยางพารา มีผู้ได้รับชดเชยประกันรายได้ จำนวน 1.4 ล้านราย ผ่านมติ ครม.เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา

มาตามสัญญา! สถานีต่อไป 'ยางพารา'

นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการที่มติ ครม.รับรองออกมาแล้วนั้น จะทำให้การดำเนินการจะทำได้เร็วขึ้น ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ ส่งให้เรียบร้อยแล้ว เพื่อเชิญให้ร่วมเป็นคณะกรรมการกลางที่จะชดเชยรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางทั้ง 3 ชนิดคือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม น้ำยางสด DRC 100% ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม และยางก้อนถ้วย DRC 100% ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม คาดว่าจะประชุมเคาะราคาชดเชยสิ้นเดือนตุลาคมนี้

มาตามสัญญา! สถานีต่อไป 'ยางพารา'

ในระหว่างนี้ได้ส่งรายชื่อเกษตรกรทั้งหมดให้ ธ.ก.ส.ตรวจสอบ รายชื่อเกษตรกร-บัญชี ธ.ก.ส.เกษตรกร ตรงกันหรือไม่ ควบกับคณะกรรมการประจำตำบลและอำเภอตรวจสอบและรับรองสวนด้วย ตรงตามที่มติ ครม.กำหนดหรือไม่ กล่าวคือ จะต้องเป็นสวนยางอายุ 7 ปี ขึ้นไปเปิดกรีดแล้วสูงสุดท้ายละไม่เกิน 25 ไร่ เมื่อนัดหมายจ่ายงวดแรกในระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562 ส่งตรงเข้าบัญชีได้ทันที