เก็บแน่!ภาษีเค็ม ‘มาม่า’กลุ่มแรก

16 ต.ค. 2562 | 05:00 น.

 

อาหารแช่แข็ง มาม่า เตรียมเสียภาษีความเค็ม สรรพสามิตลั่นเอาแน่ เดินหน้าศึกษาก่อนเสนอรมว.คลังพิจารณาในปีนี้ แต่พร้อมให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 1-2 ปี ก่อนจัดเก็บจริง

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างเร่งศึกษาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการขยายฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าความเค็ม เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในการบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ โดยจะมีการเก็บภาษีตามสัดส่วนของความเค็ม หรือตามปริมาณโซเดียม หากเค็มมากก็จะเสียภาษีในอัตราสูง ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้

“ภาษีความเค็มถือเป็นภาษีตัวใหม่ที่กรมกำลังคิดจะจัดเก็บ เพราะไทยยังไม่มีมาก่อน มีแค่จัดเก็บภาษีความหวานเท่านั้น แต่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว มีการจัดเก็บไปหลายประเทศแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนความเค็มที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากได้ข้อมูลครบจะพิจารณาได้ว่า จะมีการจัดเก็บภาษีดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งหากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าต้องจัดเก็บภาษีความเค็มจริง กรมก็จะไม่ประกาศและจัดเก็บในอัตราเดียวทันที แต่จะให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว 1-2 ปี เพื่อปรับลดปริมาณความเค็มในสินค้า หรือปรับสูตรการผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพออกมาก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ระบุอัตราการจัดเก็บที่ชัดเจน”

สำหรับสินค้าที่จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีความเค็ม เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มสินค้าอาหารปรุงสำเร็จ เช่น อาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่จะยังไม่มีการจัดเก็บภาษีความเค็มในสินค้าขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็ก เนื่องจากมองว่า ขนมเป็นอาหารที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ที่ประชาชนสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้เอง ส่วนเครื่องปรุงรสที่มีความเค็ม เช่น นํ้าปลา เกลือ ซอสปรุงรสยังไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงร้านขายอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว ร้านข้าวแกง หรือสินค้าชุมชนก็ยังไม่เข้าข่ายที่จะเสียภาษีเช่นกัน

 

ทั้งนี้ในการประชุมองค์การอนามัยโลก(WHO) รวมถึงกลุ่มสหประชาชาติ(UN) ได้พยายามผลักดันให้หลายประเทศมีการออกนโยบายภาษีเพื่อลดการบริโภควัตถุดิบในการปรุงอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เพราะจะเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคร้ายแรงต่างๆ ตามมา อาทิ โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคความดันโลหิต กรมสรรพสามิต จึงมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องพิจารณา

ส่วนการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือเบียร์ 0% อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงสาธารณสุขเช่นกัน ซึ่งยังมีความเห็น 2 ส่วนคือ การมีเบียร์ 0% เป็นทางเลือกให้ผู้ที่ดื่มเบียร์อยู่แล้วหันมาดื่มเบียร์ 0% ได้จะช่วยลดการดื่มแอลกอฮอล์ได้ กับอีกทางมองว่าเป็นการชักจูงให้ผู้ดื่มหน้าใหม่มีเพิ่มมากขึ้น

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า จุดยืนของกลุ่มฯ ยินดีจะร่วมมือกับรัฐบาล เครือข่ายสุขภาพและองค์การอนามัยโลก(WHO)ในการช่วยให้คนไทยมีสุขภาพดี ลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม และลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียมมากเกินไป ทำให้เป็นบ่อเกิดหลายโรค ซึ่งควรให้เอกชนดำเนินการแบบสมัครใจ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีความเค็มใน 4 กลุ่มเป้าหมายได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป กลุ่มอาหารแช่เย็น-แช่แข็ง และกลุ่มขนมขบเคี้ยว

ทั้งนี้จากงานวิจัยพบว่า อาหารเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 20% ของการบริโภคทั้งวัน ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่มีการทำอาหารทานที่บ้าน ทานที่ร้านอาหาร หรือตามร้านขายอาหารริมทาง ซึ่งแต่ละคนนิยมบริโภคอาหารรสชาติหวาน มัน เค็มแตกต่างกัน ดังนั้นวิธีการที่ถูกต้องคือ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้บริโภคเพื่อให้ตระหนักรู้ว่า ควรบริโภคอาหารอย่างไรที่จะไม่เป็นพิษภัยต่อตัวเอง

 

“ปัจจุบันฉลากโภชนาการมีความทันสมัย ข้างซองระบุถึงค่าความหวาน ความมัน ความเค็ม รวมถึงค่าการใช้พลังงานและอื่นๆ และยังบอกด้วยว่า 1 ซองหรือ 1 ยูนิตบริโภคได้มากน้อยแค่ไหนต่อวัน หรือควรแบ่งบริโภคกี่ครั้ง ขณะที่การไปรับประทานอาหารที่ร้านก็ควรบอกคนรับออร์เดอร์ก่อนว่า ไม่กินเค็มและการทำอาหารรับประทานที่บ้านก็ต้องลดเครื่องปรุงที่มีความเค็มหรือลดเกลือลงเพราะรู้ว่าไม่ดีต่อสุขภาพ”

นายวิศิษฐ์ยอมรับว่า หากรัฐบาลบังคับจัดเก็บภาษีความเค็มจะกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีเงินทุนน้อยที่ต้องเปลี่ยนสูตรผลิตลดโซเดียม โดยที่ยังไม่รู้ว่าเมื่อเปลี่ยนสูตรแล้วจะยังขายได้ดีหรือไม่ เพราะการเปลี่ยนสูตรแต่ละครั้งต้องใช้งบมากในการวิจัยและพัฒนา (อาร์ แอนด์ ดี)และต้องผลิตและเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ (แพกเก็จจิ้ง) ใหม่ กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในและต่างประเทศ แต่หากเปลี่ยนสูตรผลิตแล้วผู้บริโภคให้การตอบรับที่ดี ดีมานต์ตลาดเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการก็คงไม่สวนกระแส 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3514 หน้า 1 วันที่ 13 - 16 ตุลาคม 2562

เก็บแน่!ภาษีเค็ม ‘มาม่า’กลุ่มแรก