บอนด์สั้นหด  เอกชนเมิน  เหตุเก็บภาษีหน้าตั๋ว  

16 ต.ค. 2562 | 23:17 น.

ThaiBMA เผย 9 เดือน เอกชนออกตราสารหนี้ระยะสั้นลดลงทุกประเภท กลุ่ม PP10 เหลือออก 197 ล้านบาท หลังเก็บภาษีกองทุน 20 สิงหาคมที่ผ่านมา กดดันเอกชนออกน้อย และนักลงทุนซื้อเฉลี่ยต่อวันทรุด

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ช่วง 9 เดือน ปี 2562 มูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะสั้นของภาคเอกชนอยู่ที่ 794 ล้านบาท ลดลง 1,553 ล้านบาท หรือ - 66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปี 2561 ที่มีมูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะสั้นอยู่ที่ 2,347 ล้านบาท โดยเป็นการลดลง จากการออกของกลุ่มธุรกิจเดียวกันเป็นหลักอยู่ที่ 106 ล้านบาท ลดลง 1,448 ล้านบาท หรือ -93% จากปีก่อนอยู่ที่ 1,554 ล้านบาท ส่วนกลุ่มภาคการผลิตที่แท้จริงอยู่ที่ 417 ล้านบาท ลดลง 110 ล้านบาท หรือ -26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 417 ล้านบาท และกลุ่มธนาคารและการเงินอยู่ที่ 380 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4 ล้านบาท หรือ 1%

บอนด์สั้นหด  เอกชนเมิน  เหตุเก็บภาษีหน้าตั๋ว  

อย่างไรก็ตาม การออกตราสารหนี้ระยะสั้นไม่รวมกลุ่มธนาคารและการเงิน ลดลงในทุกตราสารหนี้ ซึ่งรวมการออกตราสารหนี้ระยะสั้นอยู่ที่ 414 ล้านบาท ลดลง 1,557 ล้านบาท หรือ -79% จากปีก่อนอยู่ที่ 1,971 ล้านบาท ขณะที่การออกตราสารหนี้ระยะสั้นแยกตามกลุ่มนักลงทุน ลดลงทุกกลุ่ม โดยการเสนอขายต่อผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง กรณีตั๋วเงินมีจำนวนไม่เกิน 10 ฉบับ ขณะใดขณะหนึ่ง หรือกรณีหุ้นกู้มีจำนวนไม่เกิน 10 ราย ในรอบระยะเวลา 4 เดือนใดๆ (PP10) ลดลงมากที่สุด จาก 1,667 ล้านบาทในปีก่อน ลดลง 1,470 ล้านบาท หรือ -90% มาอยู่ที่ 197 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลกระทบจากการเก็บภาษีกองทุนเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าการซื้อขายตราสารหนี้เอกชนระยะสั้นโดยกลุ่มกองทุนเฉลี่ยต่อวันลดลง 61% และมูลค่าการออกเฉลี่ยต่อวันลดลง 40% เมื่อเทียบกับการซื้อขายในช่วงก่อนเก็บภาษี

 

ขณะที่ การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน (Perpetual Bond) ของบริษัทขนาดใหญ่มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่มีอันดับเครดิตอยู่ที่ระดับ A ขึ้นไป โดยเสนออัตราดอกเบี้ยตอบแทนที่ระดับ 5-7% ใน 5 ปีแรก ทำให้นักลงทุนที่มองหาผลตอบแทนสูงให้ความสนใจมาก หลังจากปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ในระดับตํ่า รวมถึงเป็นการเสนอขายที่บริษัทสามารถทำได้ง่ายกว่าการกู้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ อัตราหนี้สินต่อทุน (ดี/อี) ไม่เพิ่ม และไม่เสี่ยงต่อการปรับลดอันดับเครดิต

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัสฯ ระบุว่า นักลงทุนต้องศึกษาความเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ที่ลงทุนใน Perpetual Bond และหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออก หลังจากมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS9) ให้หุ้นกู้ดังกล่าวบันทึกเป็นหนี้สิน จากเดิมอยู่ในส่วนทุน รวมถึงการจ่ายดอกเบี้ยจะเปลี่ยนไปบันทึกในงบกำไรขาดทุน จากเดิมอยู่ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัท

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 จะมีการปรับใช้ TFRS9 ซึ่งได้มีการตีความ Perpetual Bond ใหม่ ให้เป็นหนี้สินไม่ใช่ทุน เพราะมีการจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญา อาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น อัตราหนี้สินต่อทุนหรือ D/E และอัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest coverage ratio)

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,514 วันที่ 17-19 ตุลาคม 2562

                       บอนด์สั้นหด  เอกชนเมิน  เหตุเก็บภาษีหน้าตั๋ว