‘เงินติดล้อ’ยัน ไม่เข้มอาชีพอิสระ

17 ต.ค. 2562 | 07:50 น.

เงินติดล้อ โชว์ผลงาน 9 เดือน โตตามเป้า ยอดคงค้าง 4.5 หมื่นล้านบาท เอ็นพีแอลตํ่า 1.2-1.3% ยันไม่ปรับเกณฑ์อนุมัติสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ชี้เกณฑ์คุม DSR แก้ปัญหาเร็ว แต่ยังมีช่องโหว่ ผุดแคมเปญ “หนี้หรือความสุข” ปลุกจิตสำนึกลดหนี้ครัวเรือน

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด เปิดเผยว่า ผลงานช่วง 9 เดือนแรกบริษัทมียอดสินเชื่อคงค้าง 4.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 15% มีฐานลูกค้าสินเชื่อมากกว่า 5 แสนราย และมียอดเบี้ยประกันวินาศภัยขยายตัวต่อเนื่องเติบโต 50% และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ 1.2-1.3% ซึ่งต่ำกว่าระบบที่ 2.5-3% และตั้งเป้าขยายสาขาจาก 966 แห่ง เพิ่มเป็น 1,000 แห่งทั่วประเทศในสิ้นปีนี้ เพื่อให้บริการอย่างต่อเนื่องในทุกภาคทั่วประเทศ

ทั้งนี้บริษัทไม่ได้ปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อให้เข้มขึ้นแต่อย่างใด ยังคำนวณตามความสามารถผู้กู้ โดยลูกค้าสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน จะคำนวณจากภาระหนี้ต่อรายได้(DSR)ควบคู่กับวงเงินต่อมูลค่าหลักประกัน(LTV) ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณี บางรายอาจให้วงเงินเกิน 100% ขึ้นอยู่กับข้อมูลลูกค้า

อย่างไรก็ดี มองว่าเกณฑ์ควบคุม DSR ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นเพียงหนึ่งวิธีแก้ปัญหาที่รวดเร็ว แต่ไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด เพราะยังมีช่องโหว่จากการที่ธปท.ไม่ได้กำกับดูแลหน่วยงานครอบคลุมทั้งหมด ประกอบกับการคำนวณเกณฑ์รายได้จะใช้เฉพาะกับลูกค้าที่เป็นมนุษย์เงินเดือนเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าที่มีรายได้ประจำมีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มอาชีพอิสระ โดยบริษัทมีฐานลูกค้ากลุ่มอาชีพอิสระ 80-90% และกลุ่มมนุษย์เงินเดือน 10%

 

ล่าสุดจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 40% ในปี 2548 มาอยู่ที่ระดับ 78% ในปี 2562 บริษัทจึงเปิดตัวแคมเปญ “หนี้หรือความสุข” ที่ต้องการสื่อให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นจากการใช้จ่ายเกินตัว เพียงเพื่อความสุขชั่ววูบตามกระแสสังคม พร้อมหนังสือ “25 วิธีคิดทำให้ชีวิตชิบหาย(25 วิธีคิดให้ชีวิตสบาย)” นำเสนอ 25 ทัศนคติในการใช้ชีวิตแบบเหรียญ 2 ด้าน ทั้งด้านที่มุ่งตอบสนองเชิงอารมณ์ และด้านที่ใช้เหตุผลเน้นการวางแผนสร้างความมั่นคงทางการเงิน 

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3514 ระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม 2562