เศรษฐกิจโลกน่าห่วง เมื่อหลากความเสี่ยงโคจรมาบรรจบ

16 ต.ค. 2562 | 05:15 น.

 

ถึงแม้ว่าเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ประกาศแล้วว่าจะระงับการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์ที่เดิมมีแผนว่าจะเก็บเพิ่มจาก 25% เป็น 30% ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ข่าวดีดังกล่าวส่งสัญญาณเชิงบวกแต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะสั้นๆ เพราะบรรดานักวิเคราะห์เริ่มมองว่า ข้อตกลงการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐฯและจีนที่เรียกว่า ข้อตกลงขั้นแรกหรือเฟส 1” ซึ่งเป็นข้อตกลงในด้านทรัพย์สินทางปัญญา บริการทางการเงิน และการซื้อสินค้าเกษตรจำนวนมากนั้น ยังไม่ใช่หลักประกันยืนยันว่าสงครามการค้าระหว่าง 2 มหาอำนาจคู่นี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว

 

ล่าสุดนายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ก็ยังออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยตัวเองว่า หากหลังจากนี้ยังไม่มีการลงนามทำข้อตกลงการค้าระหว่างกัน สหรัฐฯก็จะเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีกชุดหนึ่งในอัตรา 15% วงเงิน 160,000 ล้านดอลลาร์ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2562 ตามที่เคยประกาศเอาไว้ ท่าทีดังกล่าวยิ่งตอกยํ้าว่า สถานการณ์ยังไม่มีความแน่นอน และการนำมาตรการทางภาษีมาใช้ตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯและจีน ก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับเศรษฐกิจโลก

สตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ

แหล่งข่าวใกล้ชิดกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนเปิดเผยว่า จีนต้องการเจรจาเพิ่มเติมกับสหรัฐฯอีกอย่างเร็วที่สุดในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อสรุปรายละเอียดของข้อตกลงการค้าขั้นแรกก่อนที่ผู้นำทั้งสองจะลงนามร่วมกัน

 

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวรายหนึ่งว่า ทางฝั่งจีนอาจส่งคณะผู้แทนเจรจา ซึ่งนำโดยรองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ ไปสรุปข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ผู้นำทั้ง 2 ประเทศลงนามร่วมกันได้ในการประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) ในเดือนหน้าที่ประเทศชิลี ขณะที่แหล่งข่าวอีกรายระบุว่า จีนยังต้องการให้ผู้นำสหรัฐฯล้มเลิกแผน การขึ้นภาษีนำเข้ารอบใหม่ในเดือนธันวาคมนี้ด้วย

 

นอกเหนือไปจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ในช่วงเวลานี้ที่บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่าควรจะต้องจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สำคัญก็คือปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้กำลังโคจรมาเกิดขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ชะตาของเศรษฐกิจโลกในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้มีความสุ่มเสี่ยงเป็นอย่างมาก


 

 

สหรัฐฯตั้งกำแพงภาษีสินค้าอียู

ปัจจัยเสี่ยงที่ว่านี้อันดับแรกคือ การตั้งกำแพงภาษีใส่กันระหว่างสหรัฐฯและสหภาพยุโรป (อียู) โดยสหรัฐฯจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอียูในอัตราสูงขึ้น 25% วงเงิน 7,500 ล้านดอลลาร์ มีผลวันที่ 18 ตุลาคม 2562 สินค้าที่อยู่ในข่าย ถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นอาหารและเครื่องดื่ม เช่น วิสกี้จากมอลต์ เนยสด เนยแข็ง นํ้ามันมะกอก ฯลฯ และส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และอังกฤษ

 

สิ่งที่น่ากังวลส่วนหนึ่งมาจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นเป็นที่รู้กันดีว่าขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าไม่ว่าจะจากจีนหรืออียู ล้วนส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าพุ่งสูงขึ้น ราคาจำหน่ายปรับสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคและชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด นอกจากนี้สงครามการค้าและการตั้งกำแพงภาษีใส่กัน ไม่ว่าจะเกิดกับคู่กรณีประเทศใดก็ตาม ก็อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังประเทศอื่นด้วย ไม่ได้จำกัดวง เฉพาะประเทศคู่กรณีเท่านั้น

 

เศรษฐกิจโลกน่าห่วง  เมื่อหลากความเสี่ยงโคจรมาบรรจบ

 

เศรษฐกิจชะลอตัวและเบร็กซิท

อีกปัจจัยเสี่ยงที่กำลังจะมองเห็นชัดๆในช่วงสัปดาห์นี้ คือทั้ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และ ธนาคารโลก กำลังจะมีการประชุมประจำปีที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่า ทั้ง 2 องค์กรจะปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงมา

 

การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ดัชนีต่างๆเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นแล้ว เช่นตัวเลขการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีที่ปรับลดลงและเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาสนี้ ขณะนี้ผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯก็อยู่ในภาวะชะลอตัวลงเช่นกัน

เศรษฐกิจโลกน่าห่วง  เมื่อหลากความเสี่ยงโคจรมาบรรจบ

 

ในรายงานคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกของไอเอ็มเอฟฉบับล่าสุดก่อนหน้านี้ ได้มีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ (2562) มาอยู่ที่ระดับ 3.2% หรือลดลง 0.1% ซึ่งนับเป็นอัตราเติบโตตํ่าที่สุดหลังยุควิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว

 

ช่วงสัปดาห์นี้ จะมีการเผยแพร่รายงานชุดใหม่เกี่ยวกับตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจทั้งจากฝั่งยุโรปและสหรัฐอเมริกา เช่น ตัวเลขการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และยอดขายในภาคธุรกิจค้าปลีก ที่จะสะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมของโลกนั้นจะยังคงอยู่ต่อไปหรือไม่  ทั้งเจ้าหน้าที่ของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกต่างระบุว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้น คือปัจจัยหลักที่ฉุดรั้งการ เติบโตของเศรษฐกิจโลก และทำให้โลกเปลี่ยนจากยุคของการเติบโตไปด้วยกันเข้าสู่ยุคของกำแพงภาษีที่สูงขึ้นเรื่อยๆ การค้าที่แผ่วลง และการแตกสลายของโลกาภิวัตน์

ต้องจับตากันว่า บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะต้องเจรจาขอยืดเวลาการแยกตัวออกจากอียูไปอีก 3 เดือนหรือไม่

ความเสี่ยงสุดท้ายที่จะเห็นเด่นชัดในช่วงสัปดาห์นี้คือเรื่องของเบร็กซิท หรือการแยกตัวออกจากอียูของอังกฤษ ซึ่งตามกำหนดจะต้องเกิดขึ้นภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ผู้นำของอียูมีกำหนดพบปะกันในช่วงปลายสัปดาห์เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์เบร็กซิท ถ้าหากรัฐสภาอังกฤษไม่สามารถรับรองข้อตกลงเบร็กซิทและยังยืนกรานที่จะไม่ยอมถอนตัวจากอียูอย่างไม่มีข้อตกลงมารองรับ (no-deal Brexit) นั่นก็หมายความว่า รัฐบาลอังกฤษจะต้องขอเจรจากับอียูในวันเสาร์นี้ (19 ..) เพื่อขอเลื่อนกำหนดการแยกตัวออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า บรรยากาศการค้า-การลงทุนจะยังถูกปกคลุมด้วย ความไม่แน่นอนต่อไป

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,514 วันที่ 17-19 ตุลาคม 2562

เศรษฐกิจโลกน่าห่วง  เมื่อหลากความเสี่ยงโคจรมาบรรจบ