วอน ครม.ทบทวนมติ จ่ายชดเชยยางพารา

16 ต.ค. 2562 | 10:45 น.

 

วอน ครม.ทบทวนมติประกันรายได้ใหม่ อุ้มชาวสวนยางเท่าเทียมกัน “อุทัย” กังขาสูตรคำนวณชดเชยรายได้ใช้ราคายาง 6 เดือนย้อนหลังเกษตรกรเสียประโยชน์ จากเดือนเมษาฯ ปิดกรีด พฤษภาฯ พายุถล่มดันราคาพุ่ง ธ.ก.ส.เผยเตรียมสำรองจ่าย 2.3 หมื่นล้าน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 15 ตุลาคม 2562 มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 งบประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ตามที่คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)​เสนอ ครอบคลุมเกษตรกร 1.4 ล้านคน พื้นที่ปลูกยางพารา 17 ล้านไร่

 

โครงการประกันรายได้เกษตรกร ระยะที่ 1 กำหนดระยะเวลาประกันรายได้ไว้ที่ 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ถึงเดือนมีนาคม 2563 โดยประกันรายได้ในยาง 3 ชนิด คือ 1.ยางแผ่นดิบคุณภาพดีที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) 2.น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาทต่อกก. และ3.ยางก้อนถ้วย (DRC 50%)  23 บาทต่อกก. กำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้  240 กก.ต่อไร่ต่อปี หรือ 20 กก.ต่อไร่ต่อเดือน 

 

สำหรับการจ่ายเงินประกันรายได้เกษตรกำหนดจ่ายให้เร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดจ่าย  2 เดือน  1 ครั้ง โดยให้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรชาวสวนยางดังนี้ 1.ประกันรายได้เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562 จ่ายงวดที่หนึ่ง ระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562  2.ประกันรายได้เดือนธันวาคม 2562-มกราคม 2563 จ่ายงวดที่สอง ระหว่างวันที่ 1 - 15 มกราคม 2563 และ 3.ประกันรายได้เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 จ่ายงวดที่สาม ระหว่างวันที่  1 - 15 มีนาคม 2563 แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน 60 % และคนกรีดยาง 40%

 

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการจ่ายชดเชยงวดแรกนั้น ไม่เห็นด้วยในการนำราคายางพาราเพื่อใช้เกณฑ์กลางอ้างอิงย้อนหลังไปถึงเดือนเมษายน เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นช่วงปิดกรีด พอเปิดกรีดเดือนพฤษภาคม ชาวสวนก็แทบไม่ได้กรีดยางเลย เพราะกระทบแล้งนํ้ายางไม่มี หลังจากนั้นก็มีพายุเข้ามาถึง 2 ลูกกระทบผลผลิตออกมาน้อย ส่งผลราคายางแผ่นดิบในบางวันพุ่งไปถึง 56 บาทต่อกก. เป็นราคาที่ไม่เสถียร ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสหากจะนำมาคำนวณราคากลางอ้างอิง เหมือนถูกรัฐบาลกดราคาซํ้า

 

วอน ครม.ทบทวนมติ จ่ายชดเชยยางพารา

 

“เช่นเดียวกับนํ้ายางก้อนถ้วย ทำไมชดเชย DRC แค่ 50% ซึ่งในวันประชุม กนย.ได้ถามไปหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ ก็ไม่เข้าใจ เพราะการชดเชยรายได้ รัฐบาลไม่ได้สนใจว่าจะนำยางไปขายหรือไม่ แต่ในเมื่อนํ้ายางออกมาจากต้นเดียวกันก็ควรคิดที่มาตรฐานเดียวกัน แต่เมื่อคิดแบ่งชั้นเกษตรกรก็อยากให้รัฐบาลไตร่ตรองให้ดีจะเป็นภาพลักษณ์ที่เสียหายได้ เมื่อพิจารณาแล้วยาง 3 ชนิด ได้แก่ นํ้ายางก้อนถ้วยคาดว่าจะชดเชยแค่ 3-4 บาทต่อกิโลฯ ส่วนนํ้ายางสด 10-12 บาท ขณะที่ยางแผ่นดิบ 12-15 บาทต่อกิโลกรัม”

วอน ครม.ทบทวนมติ จ่ายชดเชยยางพารา

                                 อุทัย  สอนหลักทรัพย์

นายอุทัย กล่าวอีกว่า การประกันรายได้ยาง เดิมรัฐจะคิดคำนวณชดเชยส่วนต่างราคาเฉลี่ย 2 เดือนต่อครั้งซึ่งที่ผ่านมติบอร์ด กยท. (4 ก.ย. 62)  จะคำนวณราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงราคายางเฉลี่ยเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เพื่อจ่ายชดเชยงวดแรกในเดือนธันวาคม แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นจ่ายรอบแรกเร็วขึ้น เป็นระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2562 ทำไมไม่ใช้ราคาอ้างอิงเฉลี่ยเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งจะเป็นราคาปัจจุบันในการคำนวณเพื่อชดเชยส่วนต่างมากกว่า มองว่าชาวสวนจะเสียประโยชน์(กราฟิกประกอบ)

วอน ครม.ทบทวนมติ จ่ายชดเชยยางพารา

“ส่วนราคานํ้ายางก้อนถ้วย เมื่อเทียบกับต้นทุนนํ้ายางสด มีต้นทุนมากกว่า คือจะต้องใส่กรดซัลฟูริกให้จับตัว แต่รัฐบาลยังไปกดราคาคิดที่ DRC 50% อีกทั้งที่พ่อค้าเวลารับซื้อยางก็จะประกาศ 100% ไม่มีที่ไหนรับซื้อ 50% ดังนั้น อยากให้นายกรัฐมนตรีทบทวนมติ ครม.ใหม่ ใคร่ครวญให้ดีว่าจะช่วยหรือซํ้าเติมทุกข์ให้กับชาวสวนยาง”

ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการ กยท. ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิต กล่าวว่า การใช้ราคายางเฉลี่ย 6 เดือนย้อนหลัง (เม.ย.-ก.ย. 62) มาคำนวณเพื่อชดเชยส่วนต่างราคาให้เกษตรกรเป็นข้อเสนอของ กนย. ซึ่งทาง กยท.พร้อมที่จะปฏิบัติตามหากมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมารับรองเมื่อไร กยท.พร้อมปฏิบัติทันที

 

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เผยว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ให้ใช้เงินทุน ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อนจำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท และให้ ธ.ก.ส.เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 และปีถัดไปตามความจำเป็นและเหมาะสมขั้นตอนต่อไป เพื่อชำระคืนเงินต้นและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิ่จ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,514 วันที่ 17-19 ตุลาคม 2562

วอน ครม.ทบทวนมติ จ่ายชดเชยยางพารา