ปันกันกรีน เสิร์ฟธรรมชาติสู่ผู้บริโภค

14 ต.ค. 2562 | 02:55 น.

 

 

จุดเริ่มต้นจากการบ้านของลูกซึ่งโรงเรียนจะใช้วิธีให้ทำงานบ้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นล้างจาน, ถูบ้าน, ซักถุงเท้า, กวาดบ้าน ฯลฯ โดยจะมีการวัดผลจากวิธีปฏิบัติยามที่อยู่โรงเรียนว่าเด็กคนนั้นสามารถทำได้อย่างกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วหรือไม่ ด้วยความรักของผู้เป็นแม่ทำให้ “ชัฏศิญาณ์ พรหมมงคลกุล” เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นออร์แกนิกทั่วไปมาให้ลูกใช้เพื่อสุขภาพที่ดีของลูก

ปันกันกรีน  เสิร์ฟธรรมชาติสู่ผู้บริโภค

ทั้งนี้ เมื่อซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปได้ 3-4 ครั้งจึงเริ่มมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง โดยเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มคิดว่าน่าจะทำผลิตภัณฑ์ใช้เอง ประจวบเหมาะกับที่ช่วงปี 2554 เกิดปัญหานํ้าท่วม ทำให้ต้องพาครอบครัวไปอยู่ที่จังหวัดชลบุรี และได้มีโอกาสไปเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ซึ่งจะสอน การใช้ชีวิตแบบพอเพียงทั้งการปลูกข้าว ปลูกผักไว้รับประทานและการทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติไว้ใช้งานภายในบ้าน

 

ปันจากบ้านสู่ธุรกิจ

ชัฏศิญาณ์ บอกกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากแรงบันดาลใจบวกกับการได้ศึกษาศาสตร์พระราชา ทำให้ตนเริ่มกลับมาทำนํ้าหมักจากสับปะรด โดยระยะแรกก็เลือกซื้อมาจากตลาดทั่วไป หลังจากนั้นจึงเห็นว่าเมื่อทำแบบธรรมชาติก็ควรเลือกผลไม้ที่เป็นแบบอินทรีย์ ซึ่งตนได้มีการสมัครไปยังโครงการต่างๆเพื่อเพิ่มเติมความรู้ รวมถึงเครือข่ายเกษตรร่วมเย็น ซึ่งมีสมาชิกที่เป็นเกษตรแบบอินทรีย์ ตนจึงนำผลผลิตที่กลุ่มสมาชิกไม่สามารถขนส่งมายังกรุงเทพมหานครได้หมด เนื่องจากการทำเกษตรอินทรีย์จะไม่มีสารเคมี ทำให้ผลผลิตเกิดความเน่าเสียได้ง่ายกว่ามาแปรรูปด้วยการหมัก

สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทแรกที่ทำออกมาได้แก่ นํ้ายาล้างจานจากสับปะรด และมีการต่อยอดไปสู่นํ้ายาซักผ้า นํ้ายาล้างห้องนํ้า นํ้ายาถูพื้น โดยมีการแบ่งปันไปให้กับผู้ปกครองของโรงเรียนลูก และคนใกล้ชิดได้ใช้ ซึ่งนำมาสู่การแสดงความคิดเห็นที่ทำให้มีการพัฒนาสูตรเพิ่มเติม ส่วนประกอบที่ทำให้นํ้ายาต่างๆ มีประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น เช่น การนำนํ้าด่างขี้เถ้า ซึ่งได้มาจากขี้เถ้าจากการเผามาเป็นส่วนผสม เพื่อการขจัดคราบซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นต้น  

หลังจากนั้น จึงได้รับคำแนะนำให้นำผลิตภัณฑ์ไปวางที่สหกรณ์ของโรงเรียนลูก และเริ่มปันไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ที่มีรูปแบบการเรียนการสอนแบบลงมือทำเหมือนกัน โดยเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ “ปันกันกรีน” (PunGunGreen) ซึ่งตนเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น โดยต่อมาจึงเริ่มมีการออกงานแสดงสินค้า  และทำให้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ปันกันกรีน  เสิร์ฟธรรมชาติสู่ผู้บริโภค


 

ต่อยอดสู่การ Refill

ชัฏศิญาณ์ บอกต่อไปอีกว่า ปันกันกรีนมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง  หลังจากที่ได้พาลูกเข้าร่วมกิจกรรมศาสตร์พระราชา และมีการเก็บขยะในนํ้า  ซึ่งคำพูดของลูกที่ว่าให้ลองมองดูให้ดีว่ามีขยะที่เป็นของแบรนด์ลอยมาบ้างหรือไม่ ตนจึงกลับมาพัฒนารูปแบบของบรรจุภัณฑ์ให้เป็นเติม หรือรีฟิล  (Refill)  เพื่อมุ่งหวังจะช่วยลดขยะที่เป็นพลาสติก โดยมีทำสติกเกอร์ที่สามารถลอกออกมาจากถุงเพื่อนำมาติดกับบรรจุภัณฑ์ที่เหลือใช้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใด เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งานให้กับผู้บริโภค

ปันกันกรีน  เสิร์ฟธรรมชาติสู่ผู้บริโภค

สำหรับการทำตลาดผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากผู้บริโภคจะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ทำมาจากธรรมชาติจะดีกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ที่จำหน่ายอยู่ในตลาดอย่างไร ตนจึงได้ใช้เวลาในการอธิบาย เพื่อสร้างความเข้าใจ และให้นำไปสู่การทดลองใช้งานจริง  เคยแม้กระทั่งการนำขวดเหลือใช้มาไว้หน้าบ้านให้ผู้ที่เดินผ่านไปมาได้ทดลองกดนํ้ายาไปใช้และคิดราคาตาม นํ้าหนักเป็นขีด โดยหวังให้ได้มีโอกาสทดลองใช้  ซึ่งจะทำให้ได้รู้ถึงประสิทธิภาพมากกว่า  เรียกว่าเป็นการนำขยะขวดนํ้าเหลือใช้ซึ่งเป็นขยะที่ตายแล้ว สามารถที่จะฟื้นคืนชีพมาทำงานให้เราได้อีกครั้ง

ปันกันกรีน  เสิร์ฟธรรมชาติสู่ผู้บริโภค

“ช่องทางการจำหน่ายของแบรนด์ในปัจจุบันจะมีช่องทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์, เพจเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม และไลน์แอด รวมถึงมีหน้าร้านที่ตลาดเกษตรอินทรีย์ขององค์การตลาดเพื่อการเกษตรกร (อ.ต.ก.), เคทีซียูชอป และสถานีรีฟิว ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งชาวต่างชาตินิยมไปพักอาศัย โดยกลุ่มดังกล่าวจะให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมชาติ และการทิ้งสารเคมีออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งกลุ่มลูกค้ามักจะเป็นกลุ่มแม่บ้าน และผู้ที่รักสุขภาพ”

 

รุกโรงแรมและร้านอาหาร

ชัฏศิญาณ์ บอกอีกว่า แผนการทำตลาดในระยะต่อไปนั้น จะเป็นการเข้าหาลูกค้าที่เป็นกลุ่มของโรงแรม และร้านอาหารที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นธรรมชาติ  โดยปัจจุบันเริ่มมีโรงแรมและร้านอาหารจำนวนมากติดต่อเข้ามาเพื่อออร์เดอร์ผลิตภัณฑ์ไปใช้ รวมถึงการเพิ่มสถานีรีฟิลให้มีมากขึ้นและการจำหน่ายโดยตรงให้กับบริษัทที่สนใจในการนำผลิตภัณฑ์ไปใช้ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะขยายโรงงานให้เป็นอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตตอบรับความต้องการของตลาด

อย่างไรก็ดี แบรนด์จะมีการสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคผ่านช่องทางยูทูบ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ถึงสรรพคุณและรู้ว่ามีผลิตภัณฑ์ของแบรนด์อยู่ อีกทั้งยังมองถึงช่องทางการทำตลาดต่างประเทศ เนื่องจากกลุ่มชาวต่างชาติจะให้ความสำคัญกับการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติ ทำให้ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก แต่จะติดปัญหาเรื่องการขนส่ง  เพราะผลิตภัณฑ์มีลักษณะเป็นนํ้า ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แบรนด์ก็พร้อมที่จะพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ไปสู่ชนิดผงที่สามารถนำไปผสมนํ้าเพื่อใช้งานได้ทันที

“แนวโน้มการเติบโตในตลาดของผลิตภัณฑ์ประเภทดังกล่าวนี้ยังมีอีกมากในอนาคต เพราะผู้บริโภคเริ่มหันมาให้ความใส่ใจในเรื่องความเป็นธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่การทำตลาดต้องใช้ความใจเย็น และต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภครับรู้ถึงความแตกต่างเวลาใช้งาน และต้องได้ทดลองใช้งานจริง”

ปันกันกรีน  เสิร์ฟธรรมชาติสู่ผู้บริโภค

ชัฏศิญาณ์ บอกว่าจากกลยุทธ์ในการทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้รายได้ของแบรนด์เติบโตขึ้นประมาณ 30% ในปีนี้  ซึ่งอาจจะไม่มาก  เนื่องจากราคาของวัตถุดิบมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่แบรนด์ไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์ อีกทั้งสภาวะเศรษฐกิจในประเทศก็เกิดการชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะที่ความกังวลในอนาคตจะมาจากราคาของวัตถุดิบที่อาจปรับตัวสูงขึ้นไปอีก และค่าขนส่งที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 

หน้า 8 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3513 วันที่ 13-16 ตุลาคม 2562

ปันกันกรีน  เสิร์ฟธรรมชาติสู่ผู้บริโภค