กรุงเทพธนาคมขยายเวลา 8 รายยื่นเช่าท่อร้อยสายกทม.

13 ต.ค. 2562 | 23:30 น.

 

ผู้ประกอบการโทรคมนาคม 8 รายยื่นข้อเสนอเช่าท่อร้อยสายสื่อสารกทม. กรุงเทพธนาคม ขยายเวลาให้ผู้ประกอบการยื่นแสดงความจำนงเช่าท่อสื่อสารใต้ดินเพิ่มถึง 16 ตุลาคมนี้

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้ส่งหนังสือถึง กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ให้เริ่มต้นนับหนึ่งโครงการวางสายสื่อสาร เหตุผลเนื่องจากเอกสารเชิญชวนยื่นข้อเสนอ (Request for Proposal : RFP) เพื่อคัดเลือกผู้ใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม โครงการนําสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร มูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท โดย กรุงเทพธนาคม ได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการจำนวน 61 รายทั้งภาครัฐและเอกชน สำรวจความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารในลักษณะของ “ไมโครดักต์” ให้ผู้สนใจแสดงความจำนงเข้ามาภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2562 พร้อมเตรียมออกแพ็กเกจจูงใจ เปิดกว้างรับข้อเสนอทุกราย

ล่าสุดมีรายงานข่าวว่านายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ได้ออกประกาศลงวันที่ 10 ตุลาคม 2562 เรื่องขยายระยะเวลาการสำรวจความต้องการใช้ท่อสื่อสารใต้ดิน จากเดิมกำหนดให้แสดงความจำนงวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 16 ตุลาคม เนื่องจากเมื่อครบกำหนด ปรากฏว่ามีผู้สนใจแจ้งความต้องการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในลักษณะ “ไมโครดักต์” ของทางบริษัทจำนวน 8 ราย

ประกอบด้วย 1.บริษัท เคเบิลคอนเนค จำกัด 2.บริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด 3.บริษัท อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด 4. บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) 5.บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) 6.บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ 8.บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) และอยู่ระหว่างจัดทำเอกสารโดยมีจดหมายขอส่งเอกสารล่าช้าอีก 3 ราย

สำหรับเหตุผลที่ขยายเวลาทางกรุงเทพธนาคม อ้างว่ามีผู้ประกอบการโทรคมนาคมจำนวนหลายรายแสดงความจำนงใช้ความจุท่อร้อยสายสื่อสาร แต่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาและขั้นตอนในการจัดเตรียมเอกสารข้อมูล พร้อมทั้งต้องเสนอผู้บริหารระดับสูงให้พิจารณาอนุมัติได้ทันตามกำหนดการ ดังนั้น กรุงเทพธนาคมจึงขยายเวลาออกไปเพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเท่าเทียมกัน

ส่วนขั้นตอนหลังจากที่ได้ทราบความต้องการใช้ท่อทั้งหมดแล้ว จะใช้เป็นข้อมูลที่สำคัญในการออกแบบระบบ และคำนวณต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งจะสะท้อนมาเป็นอัตราค่าเช่าท่อ โดยจะสรุปข้อมูลเสนอไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อพิจารณาอัตราค่าเช่าท่อร้อยสาย ตามขั้นตอนต่อไป 

ก่อนหน้านี้นายมานิช เดชอุดม กรรมการผู้อำนวยการ ของ เคที กล่าวว่า โครงการนี้ยังเดินหน้าต่อ เพราะเป็นนโยบายของกรุงเทพมหานครเพื่อจัดระเบียบสายสื่อสาร โดยมูลค่าโครงการอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท

ขณะที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการปรับลดราคาค่าเช่าท่อสื่อสารใต้ดินจากเดิมราคา 9,600 บาท/ซับดักต์/เดือน ขั้นตอนอยู่ระหว่างการปรับอัตราค่าบริการอีกครั้งเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการโทรคมนาคมจำนวน 7 รายยืนยันที่จะเช่าท่อร้อยสายของทีโอที เหมือนเดิม

หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,513 วันที่ 13 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2562 

กรุงเทพธนาคมขยายเวลา  8 รายยื่นเช่าท่อร้อยสายกทม.