คอร์น เฟอร์รี่ ระบุ สัมพันธ์มนุษย์กับมนุษย์ ยังได้ใจกว่า AI

13 ต.ค. 2562 | 06:10 น.

ในยุคที่บางองค์กร เริ่มนำ AI เข้ามาเป็นเครื่องมือในการรับสมัครงาน ทำหน้าที่แทนฝ่ายสรรหาบัคลากร หรือฝ่ายเอชอาร์ในเบื้องต้น ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบการสัมภาษณ์ หรือ การวิเคราะห์ข้อมูลผู้สมัคร ว่าใช่คนที่องค์กรต้องการหรือเปล่า

จากการสำรวจความคิดเห็นทั่วโลก 2 ฉบับใหม่ ของ คอร์น เฟอร์รี่ โดยฉบับหนึ่งสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มผู้สมัครงาน และอีกฉบับหนึ่งสำรวจจากกลุ่มผู้สรรหาบุคลากร หรือฝ่ายเอชอาร์ขององค์กร

ผลสำรวจชี้ว่า ฝ่ายเอชอาร์ที่มีความเชี่ยวชาญและมีการตอบสนองอย่างเหมาะสม ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์การสมัครงานเชิงบวกแก่ผู้สมัครงาน แต่ขณะเดียวกัน ก็สร้างประสบการณ์เชิงลบได้ทันที หากมีการแสดงออกไม่เหมาะสม

คอร์น เฟอร์รี่ ระบุ สัมพันธ์มนุษย์กับมนุษย์ ยังได้ใจกว่า AI

"ทาเนีย เบอร์เจอร์ส" หัวหน้างานฝ่ายตลาด ธุรกิจการแสวงหาบุคลากร คอร์น เฟอร์รี่ ประเทศไทยและอินโดนีเซีย กล่าวว่า เทคโนโลยีช่วยให้สามารถสรรหาบุคลากรผู้มีพรสวรรค์เข้าสู่องค์กรได้มากมาย เช่น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ในการแสวงหาผู้สมัครงานที่ดีและเหมาะสมที่สุดกับตำแหน่งงาน

การสำรวจระบุว่า ผู้สมัครงาน 90% และฝ่ายเอชอาร์ 80% มีความเห็นตรงกันว่า การที่ผู้สมัครงานรู้สึกชื่นชมในตัวเอชอาร์ ซึ่งเป็นผู้ที่ตนกำลังพูดคุยอยู่ด้วยนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากหรือมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ส่วนจะเกิดความรู้สึกเชิงลบ หรือบวก ก็ขึ้นอยู่กับการแสดงออกของฝ่ายเอชอาร์คนนั้นๆ ส่วนอิทธิพลในการโน้มน้าวผู้สมัคร ในความคิดของฝ่ายเอชอาร์ มั่นใจว่ามากกว่า 83% ฝ่ายเอชอาร์สามารถโน้มน้าวผู้สมัครงานที่ยังไม่แน่ใจให้รับข้อเสนองานได้ ส่วนผู้สมัครคิดว่า ประมาณ 50% ที่่ฝ่ายเอชอาร์จะสามารถโน้มน้าวให้ผู้สมัครงานเลือกข้อเสนองานขององค์กรได้

ส่วนเมื่อผู้สมัครงานต้องตัดสินใจเลือกระหว่างข้อเสนองาน 2 แห่ง ผลสำรวจพบว่า 44% ต้องการรู้ถึงข้อเสนอที่ดีและสอดคล้องกับความต้องการของผู้สมัคร และมีเพียง 5% ที่ต้องการเงินที่มากกว่า
 
หากถามถึงคุณสมบัติของฝ่ายเอชอาร์ ผลการสำรวจทั้งสองฉบับระบุว่า การมีความรู้เกี่ยวกับตำแหน่งงาน องค์กร และอุตสาหกรรมที่ดำเนินการ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้มากที่สุด

คอร์น เฟอร์รี่ ระบุ สัมพันธ์มนุษย์กับมนุษย์ ยังได้ใจกว่า AI
 
ผู้สมัครงานมากกว่าครึ่ง หรือประมาณ 53% พูดถึงจุดแตกหักของการสื่อสารที่รุนแรงที่สุด คือ เมื่อถูกฝ่ายเอชอาร์ “ตัดการติดต่อแบบไม่มีคำอธิบาย” กับพวกเขา โดยไม่มีการโทรศัพท์ตอบกลับหรือแจ้งให้ทราบว่ากระบวนการว่าจ้าง กำลังดำเนินอยู่ในขั้นตอนใด
 
“แนวคิดที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติต่อผู้สมัครเหมือนเป็นลูกค้าของบริษัท เมื่อพวกเขามาสมัครงาน เราต้องการให้ทุกขั้นตอนในการว่าจ้างดำเนินไปอย่างราบรื่น ส่วนสำคัญคือต้องมีการสนทนาโต้ตอบและปฏิบัติตัวกับอีกฝ่ายด้วยการให้เกียรติ”
 
ส่วนสาเหตุสำคัญที่สุด ที่คนต้องการหางานใหม่ คำตอบที่ได้จากฝ่ายเอชอาร์ คือ ต้องการตำแหน่งงานที่สูงขึ้น หรือความรับผิดชอบที่มากขึ้นในฐานะบุคลากรระดับสูง ตามมาด้วยเงินเดือน ต้องการความท้าทายใหม่ ๆ และปัญหาความสัมพันธ์กับหัวหน้างาน

นอกจากนี้ ยังมีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในการหาสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว โดยต่างคาดหวังอย่างมากว่าจะมีอิสรภาพและความยืดหยุ่นในการทำงานที่มากขึ้น
 
ผลการสำรวจที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ค่าตอบแทนในอุตสาหกรรมทั่วไปของ คอร์น เฟอร์รี่ พบว่า อัตราการลาออกในประเทศไทยอยู่ที่ 11% โดยอุตสาหกรรมที่ประสบกับอัตราการลาออกของพนักงานสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกและเทคโนโลยีสารสนเทศ  ส่วนอุตสาหกรรมที่มีอัตราการลาออกของพนักงานต่ำสุด คือ ธุรกิจภาคพลังงาน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,512 วันที่ 10 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2562

คอร์น เฟอร์รี่ ระบุ สัมพันธ์มนุษย์กับมนุษย์ ยังได้ใจกว่า AI