รับมือความเปลี่ยนแปลง ห่วงโซ่อุปทานโลก

12 ต.ค. 2562 | 06:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3513 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 13-16 ต.ค.2562

 

รับมือความเปลี่ยนแปลง

ห่วงโซ่อุปทานโลก

 

     เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมานางคริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาเรียกร้องให้ทั้งโลกมีความเป็นเอกภาพเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวตํ่าที่สุดในรอบ 10 ปี จากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ จนทำให้การค้าโลกเกิดภาวะชะงักงัน ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 21.35 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 0.8% ของจีดีพีโลก

     ไอเอ็มเอฟชี้ว่าในปี 2562 นี้จะได้เห็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในเกือบๆ 90% ของประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งเป็นการชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียงทั่วหน้า จนทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวในอัตราตํ่าที่สุดในรอบทศวรรษ พร้อมเตือนให้ทั่วโลกรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะส่งผลต่อเนื่องในระยะยาวหลายชั่วอายุคน นั่นคือ “การเปลี่ยนแปลงด้านห่วงโซ่อุปทาน”

     คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาสงครามการค้าที่เกิดขึ้น นอกจากผลกระทบระยะสั้นทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้ว สิ่งที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกแสดงความกังวลคือการเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทาน ที่จะเกิดจากการย้ายฐานการผลิตสินค้าทั้งของจีนและสหรัฐฯ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าการลงทุนในแบบที่โลกไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีก

     สำหรับประเทศไทย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานไว้อย่างน่าสนใจว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น จะทำให้ในระยะยาวจีนจะต้องพยายามปรับห่วงโซ่อุปทานสินค้าของตนใหม่ให้แยกออกจากสหรัฐฯ โดยต้องกระจายความเสี่ยงด้วยการย้ายฐานการผลิตและหาตลาดใหม่เพิ่มเติม

     ขณะที่สหรัฐฯ เองก็จะแยกห่วงโซ่การผลิตสินค้าของตนออกจากจีนเช่นเดียวกัน เพราะสหรัฐฯ มองว่าการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนเชื่อมโยงกันมากอย่างในอดีต ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียอำนาจการต่อรอง ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องการบีบให้บริษัทสหรัฐฯ ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน และเริ่มหาตลาดใหม่ที่ไม่ใช่จีน ส่งผลให้โลกาภิวัตน์ที่เศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว กลายยุคที่ห่วงโซ่อุปทานโลกแตกเป็น 2 ห่วงโซ่ที่แยกจากกัน กล่าวคือ ห่วงโซ่หนึ่งเป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมกับจีน ส่วนอีกห่วงโซ่หนึ่งจะเป็นห่วงโซ่ที่เชื่อมกับสหรัฐฯ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเร่งศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อนำมาวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนประเทศในระยะยาว