ธปท.เข้มเก็งกำไร  กดดันต่างชาติทิ้งบอนด์    

12 ต.ค. 2562 | 03:01 น.

สมาคมตราสารหนี้ไทยเผยไตรมาส 3 เงินลงทุนต่างชาติในตราสารหนี้ไทยพลิกเป็นขายสุทธิ หลังแบงก์ชาติเข้มเก็งกำไรค่าเงิน ธนาคารกลางทั่วโลกทยอยปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย กดดันดอกเบี้ยไทยอยู่ในระดับตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ เผย 9 เดือนเอกชนระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวกว่า 8 แสนล้านบาท

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า กระแสเงินลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยเริ่มพลิกกลับมาเป็นการขายสุทธิในช่วงไตรมาส 3 หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม และธนาคารกลางในประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคม ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีการปรับพอร์ตการลงทุนและทยอยขายทํากําไร

ธปท.เข้มเก็งกำไร  กดดันต่างชาติทิ้งบอนด์    

สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี เงินลงทุนรวมของนักลงทุนต่างชาติลดลง 75,722 ล้านบาท โดยลดลงในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้นที่ 126,105 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาวที่ 50,383 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิของต่างชาติ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 918,343 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.9% มูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยลดลงสู่ระดับตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปี อยู่ที่ 1.34% และ 10 ปี อยู่ที่ 1.43%

ขณะที่ แนวโน้มการออกตราสารหนี้ระยะยาวปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท จาก 9 เดือนแรกอยู่ที่ 833,427 ล้านบาท โดยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมีตราสารหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดมูลค่าอยู่ที่ 123,251 ล้านบาท ทำให้มีการออกหุ้นกู้ชดเชย คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 70-80% รวมถึงมีหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน (Perpetual Bond) ที่จะออกโดย 4 บริษัท มูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนปีนี้ ตลาดตราสารหนี้ไทยโดยรวมขยายตัวที่ 3.7% มีมูลค่าคงค้างรวมเพิ่มขึ้นเป็น 13.27 ล้านล้านบาท จากสิ้นปี 2561 อยู่ที่ 12.79 ล้านล้านบาท โดยตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวมีการออกเพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทําให้มูลค่าการออกใน 9 เดือนแรกปีนี้ ใกล้เคียงกับมูลค่าการออกปีที่แล้ว ทั้งนี้ เป็นการออกเพิ่มขึ้นจากทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มการเงิน และรายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นกลุ่มเดียวที่มียอดการออกเพิ่มขึ้นทุกปีตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ ตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นมีมูลค่าการออกลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 66% และการออกตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ส่วนใหญ่เป็นการเสนอขายต่อนักลงทุนสถาบัน

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสงครามการค้าและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลงสู่ระดับตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ บริษัทเอกชนไทยระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการออกในช่วง 9 เดือนแรกสูงกว่า 800,000 ล้านบาท เกือบเท่ากับมูลค่าการออกปีที่แล้ว ส่วนกระแสเงินลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยพลิกกลับเป็นขายสุทธิ จากสถานการณ์ความผันผวนของตลาดการเงินโลก ทำให้ใน 9 เดือนที่ผ่านมา มีเงินลงทุนของต่างชาติออกจากตลาดตราสารหนี้รวมสุทธิ 75,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ มองว่าทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจากเงินบาทที่แข็งค่า และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จะเป็นแรงกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ ทําให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นขยับลดลงตาม ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ซึ่งอยู่ระดับต่ําสุดแล้ว จะมีโอกาสปรับตัวลงได้อีกไม่มาก แต่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากการเจรจาการค้าสหรัฐฯ กับจีนมีแนวโน้มว่าจะตกลงกันได้

ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากภาษีการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมาพบว่า ตราสารหนี้ระยะสั้นมีมูลค่าการออกลดลงเฉลี่ย 70% ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังจากการเก็บภาษี โดยมูลค่าการซื้อขายของกลุ่มกองทุนรวมในตราสารหนี้ระยะสั้นลดลง 61% และระยะยาวลดลง 33% นอกจากนี้ Credit space ภายหลังการเก็บภาษีของตราสารหนี้ภาคเอกชนมีการปรับเพิ่มขึ้นและลดลงขึ้นกับระดับความน่าเชื่อถือ และอายุคงเหลือ โดยในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 0-20 bps

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,513 วันที่ 13-16 ตุลาคม 2562 

                      ธปท.เข้มเก็งกำไร  กดดันต่างชาติทิ้งบอนด์